Author Archives: ZunWu
ระดับเสียงร้องของมนุษย์
การขับร้องถือเป็นการสร้างสรรค์ดนตรีที่ง่ายและเป็นพื้นฐานที่สุดของมนุษยชาติ ซึ่งเสียงของนักร้องทั่วไปนั้นก็จะแตกต่างกันไปตาม เพศ ชาติพันธุ์ วัย รวมไปถึงการออกเสียงตามลักษณะภาษาอีกด้วย เสียงร้องเพลงของมนุษย์นั้นจะขึ้นอยู่กับลมหายใจ ดังนั้นการร้องเพลงที่ดีคือการหายใจที่ถูกจังหวะและดึงเสียงออกมาจากช่องลม ซึ่งหลายคนน่าจะเคยได้ยินมา นอกจากนั้นยังมีประเภทเสียงแบบต่างๆซึ่งหากเรียนขับร้องแล้วจะต้องรู้ว่าระดับเสียงของตนเองนั้นอยู่ในช่วงใด จึงจะเลือกเพลงที่เหมาะสมกับตนหรือร้องประสานเสียงกับผู้อื่นได้อย่างกลมกลืน ดังนั้นเราจะมาดูวิธีการแยกประเภทลักษณะเสียงแต่ละประเภทกันก่อน เพื่อเพื่อนๆผู้อ่านจะได้แนวทางการร้องเพลงของตนเองที่ถูกต้อง
ปกติแล้วเสียงของมนุษย์จะแบ่งเป็น 6 ประเภท ได้แก่ ฝ่ายหญิง 3 ประเภท เรียงจากเสียงสูงไปหาต่ำ เช่น โซปราโน (Soprano) เมซโซโซปราโน (Mezzo-soprano) และอัลโต (Alto) สำหรับฝ่ายชาย 3 ประเภทเรียงจากเสียงสูงไปหาต่ำ เช่น เทเนอร์ (Tenor) บาริโทน (Baritone) และเบส (Bass) แต่ก็อาจมีข้ามระดับกันได้บ้างในกรณีที่ฝ่ายหญิงมีโทนเสียงต่ำหรือฝ่ายชายมีโทนเสียงที่สูงกว่าปกติ ในบางครั้งจึงอาจเห็นผู้ชายร้องเสียงโซปราโนได้ หรือผู้หญิงร้องเสียงเบสได้ ซึ่งวงขับร้องประสานเสียงคอรัสจะต้องการความกลมกลืนในระดับเสียงที่แตกต่างกันไป
โซปราโน (Soprano)
เป็นเสียงที่สูงที่สุดของผู้หญิง ซึ่งอยู่ในตัวโน๊ต A หรือ Bb ที่ออคเต็ป 3 โน๊ตที่ต่ำที่สุดของโซปราโนคือ F ที่ออคเต็ป 3 ในขณะที่โน๊ตสูงสุดอาจไปถึง G ออคเต็ป 6 เลยทีเดียวเหมือนที่ Jules Massenet เคยทำได้ในคอนเสิร์ตโมสาร์ท Popoli di Tessaglia! นักร้องเสียงโซปราโนจะมีการใช้ลูกเล่นที่ช่วงคอ ปกติแล้วเสียงโซปราโนมักจะเอาไว้ร้องเพลงดนตรีคลาสสิคเช่น โมสาร์ท หรือ เพลงของบีโธเฟ่น และมักจะเป็นการขับร้องประสานเสียงซะเป็นส่วนมาก เพราะลักษณะเสียงค่อนข้างสูงและกังวานนั่นเอง
เมซโซโซปราโน (Mezzo-soprano)
เป็นเสียงที่ระดับคีย์ต่ำลงกว่าโซปราโนเล็กน้อย ปกติแล้วเสียงประเภทนี้เราจะได้ยินในการร้องเพลงละครเวทีหรือจำพวกโอเปร่าของทางฝั่งยุโรป เสียงเมซโซโซปราโนจะมีคีย์ที่ค่อนข้างกว้างเพราะเป็นเสียงร้องได้หลายประเภทดนตรี ปกติแล้วเสียงเมซโซโซปราโนจะอยู่ที่ A ออคเต็ป 3 ไปจนถึง A ออคเต็ป 5 ซึ่งกว้างสุดในย่านคีย์ของนักร้องผู้หญิง โทนเสียงประเภทนี้จะมีความเข้มกว่าโซปราโนและมีมิติอารมณ์ จึงปรากฏในละครเวทีหลายเรื่อง เรื่องที่ดังที่สุดคงไม่พ้น โรมีโอ แอนด์ จูเลียต ของวิลเลี่ยม เช็คสเปียร์ ซึ่งถ้าใครอยากฟังเสียงเมซโซโซปราโนก็ไปหาฟังในละครเรื่องนี้ได้
อัลโต (Alto)
เป็นเสียงต่ำสุดของผู้หญิงซึ่งในเพลงสมัยใหม่เราจะได้ยินเสียงโทนนี้ค่อนข้างเยอะไม่ว่าจะเป็นป็อป ร็อค บลูส์ แจ๊ส เพราะจะเป็นคีย์มาตรฐานที่นักร้องหญิงในปัจจุบันร้อง (ไม่นับพวกตัวแม่อย่างเช่น Mariah Carey หรือ Celine Dion ที่จะทำคีย์ได้สูงกว่านี้) คีย์ของอัลโตจะอยู่ที่ E ออคเต็ปที่ 3 จนถึง F ออคเต็ป 5 เสียงอัลโตนี้จะไม่ค่อยได้เห็นในวงประสานเสียงมากนักเพราะส่วนมากนิยมผสมเสียงระหว่างชายหญิงเองมากกว่า ทำให้เสียงอัลโตต้องไปหาฟังในเพลงสมัยใหม่ซะเป็นส่วนใหญ่
เทเนอร์ (Tenor)
เสียงคีย์สูงของเพศชายโทนนี้จะอยู่ในคีย์ C3- B4 เสียงเทเนอร์จะนิยมใช้มากในเพลงโอเปร่าที่เป็นเสียงผู้ชาย คีย์สูงที่สุดที่เคยบันทึกไว้คือ F5 โดย Bellini puritani นักร้องโอเปร่าชาวอิตาลีในคอนเสิร์ต “Credeasi misera” ชื่อเทเนอร์นั้นมาจากภาษาละตินมีความหมายว่า ควบคุม ดังนั้นเสียงเทเนอร์จึงมักจะเป็นเสียงหลักในดนตรีโอเปร่า โดยมักจะนำไปผสมกับเมซโซโซปราโนเพื่อให้ได้เสียงอัลโตนั่นเอง นอกจากนี้แล้วเสียงเทเนอร์ยังเป็นเสียงคีย์มาตรฐานในเพลงของโมสาร์ทอีกด้วย
บาริโทน (Baritone)
เป็นเสียงผู้ชายที่พบมากที่สุด โดยคำว่าบาริโทนมาจากภาษากรีก แปลว่าลึกหรือหนัก เสียงบาริโทนจะอยู่ในคีย์ G2 จนถึง G4 แม้ว่าเป็นเสียงผู้ชายทั่วไปแต่เสียงบาริโทนกลับได้รับการยอมรับในวงกว้างไม่เหมือนเสียงอัลโต เพราะตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 บาริโทนก้ได้เป็นเสียงหลักในการร้องเพลงโอเปร่าที่อิตาลีแล้ว จนมาถึงศตวรรษที่ 20 ก็ยังเป็นเสียงหลักในดนตรีสมัยใหม่ของทางอังกฤษและอเมริกาอีกด้วย เสียงบาริโทนจึงเป็นเสียงที่หาฟังได้ง่ายที่สุดตั้งแต่เพลงโอเปร่าจนมาถึงเพลงคลาสสิคปัจจุบันนั่นเอง
เบส (Bass)
ตามชื่อภาษาอังกฤษเลยเพราะเสียงนี้จะเป็นคีย์ของเครื่องดนตรีประเภทเบสหรือเสียงที่ต่ำกว่าออคเต็ปปกติ ปกติแล้วเสียงโทนนี้จะไม่เป็นเสียงหลักในการร้อง ดังนั้นเราจะไม่เห็นเสียงเบสในเพลงปกติเท่าไหร่นัก ยกเว้นการร้องประสานเสียงที่เสียงเบสเป็นกุญแจสำคัญในการประสานให้เข้ากับเสียงโทนอื่น ดังนั้นเราจะพบเสียงเบสในการร้องเป็นวงแทบทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นโอเปร่า เพลงคลาสสิคโบราณยุคโมสาร์ท บีโทเฟ่น จนมาถึงเพลงปัจจุบันที่ขาดเสียงเบสไม่ได้เลย เสียงเบสนั้นจะอยู่ในคีย์ D2- E4
หากนักร้องค้นพบว่าเสียงของตนเองอยู่ในระดับใด ก็จะง่ายต่อการหาคีย์ในการร้องเช่นเดียวกับการประสานเสียงกับผู้อื่น และนักดนตรีที่เป็นแบ็คอัพก็จะรู้สึกง่ายในการหาคีย์อีกด้วย อีกทั้งยังสามารถฝึกร้องเพลงให้ถูกต้องกับโทนเสียงตนเอง เช่น โซปราโนก็จะเน้นการสั่นของลูกคอ ในขณะที่เสียงเบสจะเน้นช่องลมบริเวณท้องเป็นอย่างมาก พอรู้จักระดับเสียงของตนเองก็จะง่ายในการฝึกฝนเพื่อเป็นนักร้องคุณภาพในอนาคต
ขอบคุณบทความจาก choirly
ขอบคุณรูปภาพจาก choirly
Fender American Elite Telecaster Thinline กีตาร์ไฟฟ้า
ขายเพียง  72,000฿ จาก  80,000฿Fender American Elite Stratocaster HSS Shawbucker กีตาร์ไฟฟ้า
ขายเพียง  67,500฿ จาก  75,000฿Fender American Elite Stratocaster กีตาร์ไฟฟ้า
ขายเพียง  67,500฿ จาก  75,000฿เรื่องของไวโอลินที่อาจจะยังไม่รู้ !!!
ไวโอลินเป็นหนึ่งในเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดของโลกและมีสเน่ห์ในตนเอง ในสมัยก่อนโวโอลินเป็นเครื่องดนตรีของชนชั้นสูงในยุโรปจนนิยมเล่นมาถึงปัจจุบัน ซึ่งไวโอลินเป็นตระกูลเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญในวงออเคสตรา พื้นฐานเสียงของไวโอลินเกิดจากการสั่นของสายโดยแตกแขนงออกไปเป็นเชลโล่และวิโอล่าได้อีก เพราะถือว่าเป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายและใช้คันชักเหมือนกัน
ลักษณะเสียงของไวโอลินจะมีความกว้างและแหลม และสามารถเปลี่ยนไปตามความสั่นของนิ้วมือได้ด้วย หลายๆคนจึงชื่นชอบในเครื่องดนตรีประเภทนี้ แต่ก็ยังมีความจริงบางข้อที่นักไวโอลินอาจจะยังไม่รู้ ดังนั้นถ้าใครชื่นชอบเครื่องดนตรีประเภทนี้อาจจะอยากทราบ
ไวโอลินกำเนิดมากว่า 500 ปี
ไวโอลินตัวแรกของโลกถูกสร้างโดย อันเดรีย อามาติ นักไวโอลินชาวอิตาลี ซึ่งถือเป็นบิดาของเครื่องดนตรีชนิดนี้ อามาติหลงใหลในเสียงของเครื่องสั่นที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ จึงคิดค้นเครื่องดนตรีในแบบของตนเองที่ทำมาจากไม้ มีสายพาดผ่านและใช้คันชักสีให้เกิดเสียง มีช่องลมในตัวไม้เพื่อให้เสียงลอดออกมาได้ ซึ่งเป็นการกำเนิดไวโอลินบนโลกใบนี้ นอกจากนั้น อามาติ ยังผลิตเครื่องดนตรีตระกูลนี้ชนิดอื่นอย่าง เชลโล่ อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันไวโอลินตัวแรกของ อามาติ ได้เข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะโลกที่นิวยอร์คเรียบร้อย
80% ของไวโอลินบนโลกทำจากไม้เมเปิ้ลและไม้สปรู๊ซ
แม้ว่าเครื่องดนตรีชนิดอื่นอาจจะใช้ไม้หลายแบบมาทำ แต่เนื่องจากไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงเฉพาะตัวคือกว้างและแหลม ไม้ที่ใช้ทำไวโอลินได้จึงมีไม่มาก ที่นิยมคือไม้ตระกูลสนหรือสปรู๊ซ ที่จะให้เสียงโทนแหลมค่อนข้างดีเหมาะสำหรับทำไวโอลิน อีกประเภทคือไม้เมเปิ้ลที่ให้เสียงย่านกลางดีอยู่แล้ว และยังมีความคมชัดในเนื้อเสียง สองไม้นี้จึงเป็นไม้หลักๆในการนำมาผลิตไวโอลิน
ขนาดของไวโอลินที่เหมาะสมวัดจากช่วงแขนผู้เล่น
ไวโอลินผลิตออกมา 8 ขนาด โดยเวลาวัดขนาดไวโอลินที่เหมาะกับตนเองจะวัดจากความยาวช่วงไหล่ไปถึงข้อมือ แม้ว่าบางคนอาจจะวัดตามอายุผู้เล่นแต่เนื่องจากแต่ละคนมีการเจริญเติบโตที่ไม่เท่ากันการวัดจากช่วงแขนจึงนิยมมากที่สุด แต่ที่นิยมมักจะเป็นขนาด 3/4 หรือ 4/4 เพราะเป็นขนาดมาตรฐานสำหรับผู้ใหญ่ทั่วไป
ไวโอลินที่แพงที่สุดในโลกคือ 18 ล้านดอลลาร์
เจ้าของสถิติเดิมคือ Stradivarius ไวโอลินที่โด่งดังไปทั่วโลก ชื่อนี้หลายคนอาจจะคุ้นหูเพราะปรากฏในภาพยนตร์หรือการ์ตูนหลายเรื่องเช่น โคนัน ไวโอลินตัวนี้ถูกประมูลเพื่อช่วยผู้ประสบภัยสึนามิเมื่อปี 2011 ในราคา 15.9 ล้านดอลลาร์ จนมาถูกทำลายสถิติราบคาบเมื่อปี 2013 เมื่อเศรษฐีชาวอาหรับที่ไม่ประสงค์ออกนามซื้อ Vieuxtemps ไวโอลินของนักทำไวโอลินอย่าง Guarneri ในราคา 18 ล้านดอลลาร์ (จากการเปิดเผยของ J&A Beare ร้านไวโอลินชื่อดังในลอนดอนที่เป็นสื่อกลางในการซื้อขายครั้งนี้ ปัจจุบันเศรษฐีชาวอาหรับได้ให้สิทธิ์ Anne Akiko Meyers นักไวโอลินชาวญี่ปุ่นเป็นผู้เล่น
ขอบคุณบทความจาก sheetmusicplus
ขอบคุณรูปภาพจาก takelessons, consordini
เรื่องที่คุณอาจจะยังไม่รู้ของไม้ Top-Solid
โดยทั่วไปแล้วหากนักดนตรีจะซื้อกีต้าร์ดีๆซักตัวก็คงต้องศึกษาเรื่องไม้กันพอสมควรเพื่อให้ได้กีต้าร์คุณภาพดี โดยเฉพาะกีต้าร์โปร่งที่มักจะใช้ไม้ปะหน้าที่เป็นไม้แท้หรือ Top-Solid มาเป็นจุดขาย หลายๆคนก็อาจจะงงว่า อ้าว แล้วถ้าไม่ใช่ Top-Solid แสดงว่าเป็นไม้ปลอมหรือวัสดุสังเคราะห์หรือเปล่า ขอบอกตรงนี้เลยว่าไม่ใช่ เพราะทั้งสองชนิดนี้คือไม้แท้ทั้งคู่ แตกต่างตรงที่ Solid จะเป็นไม้แบบแผ่นเดียว ส่วน Laminate จะเป็นการใช้ไม้หลายท่อนมาประกอบกัน
มาถึงตรงนี้หลายคนก็อาจจะร้อง อ๋อ เพราะตามสเปคกีต้าร์โปร่งจะมี Top-Solid หลายประเภทเหลือเกิน เช่น ท็อปโซลิดสปรู๊ซ ก็คือการใช้ไม้สนแบบแผ่นเดียวทำเป็นสวนหน้าบอดี้ หรือท็อปโซลิดมะฮอกกานีก็คือการนำไม้มะฮอกกานีแบบแผ่นเดียวมาทำกีต้าร์นั่นเอง ทีนี้ตัวไม้ Top-Solid มันมีข้อดีข้อเสียอย่างไรที่บางคนยังไม่รู้ เราก็จะพาไปไขคำตอบกันดังนี้
Top-Solid VS Laminate
เชื่อว่าคงเคยได้ยินมาว่าถ้าเป็นไม้แท้ยิ่งเวลาผ่านไปเท่าไหร่กีต้าร์เสียงจะดีขึ้น ซึ่งข้อดีพิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริง เพราะการใช้ไม้แผ่นเดียวพอเวลาไม้แห้งเนื้อไม้จะผสานตัวเข้าหากัน ทำให้ไม่มีช่องอากาศเล็กๆน้อยๆมาทำให้เสียงดร็อปอีกต่อไป ต่างจากไม้ Laminate หรือไม้ประกอบที่มักจะนำไม้ 2-3 ชั้นมาซ้อนกัน เมื่อเวลาไม้แห้งจะเชื่อมต่อกันไม่สนิทเพราะกาว อีกทั้งตัว Laminate ยังต้องวางไม้ซ้อนทำให้เนื้อไม้หนาจึงใช้เวลาแห้งนานกว่า ดังนั้นถ้าเลือกซื้อกีต้าร์โปร่งแบบ Top-Solid จะได้เปรียบตรงที่กีต้าร์คุณภาพเสียงดีขึ้นตามกาลเวลา
Top-Solid ไม่ได้ให้เสียงใสเสมอไป
อย่างที่เกริ่นเอาไว้ว่า คำว่า Top-Solid คือไม้แผ่นเดียวกันเท่านั้น ทำให้เสียงของกีต้าร์ย่อมขึ้นอยู่กับว่าเอาไม้อะไรมาใช้เป็นส่วนประกอบเสียมากกว่า เช่น ถ้าเป็นโซลิดมะฮอกกานีก็จะให้สุ้มเสียงที่หนา sustain ค่อนข้างกว้าง ถ้าเป็นไม้ซิทก้าสปรู๊ซจะเด่นย่านเสียงกลาง เสียงไม่แตกง่ายทำให้ไม้โซลิดประเภทนี้เหมาะกับการตีคอร์ด หรือถ้าเป็นไม้อิงเกิ้ลแมนสปรู๊ซซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อนเสียงก็จะใสเหมาะกับการเล่นแบบฟิงเกอร์สไตล์ ดังนั้นความเชื่อที่ว่า Top-Solid ต้องเสียงใสๆกังวานจึงเป็นความเชื่อที่ผิด เวลาเลือกซื้อกีต้าร์ควรดูจากประเภทของไม้ที่เอามาทำมากกว่า
Top-Solid ไม่ได้เป็นไม้เกรดดีเสมอ
คำว่า Top ใน Top-Solid ไม่ได้หมายถึงเกรดไม้ แต่หมายถึงด้านบน(ด้านหน้า)ของตัวกีต้าร์ ดังนั้นการที่กีต้าร์เป็น Top-Solid ไม่ได้หมายความว่าเป็นกีต้าร์เกรดสูง แต่หมายถึงใช้ไม้แผ่นเดียวเท่านั้น ซึ่งถ้าหากไม้ที่ใช้เป็นไม้ไม่มีคุณภาพ บางครั้ง Top-Solid ของกีต้าร์โนเนมบางยี่ห้อก็ยังสู้ไม้ Laminate ของบางแบรนด์ที่เอามาประกอบไม่ได้เลย อีกทั้งช่วงหลังยังเริ่มใช้ไม้จากเขตร้อนมาทำ Top-Solid กีต้าร์มากขึ้นทั้งที่ไม้จำพวกนี้ความชื้นจะเยอะทำให้แห้งยาก จึงต้องใช้เวลานานกว่ากีต้าร์จะได้คุณภาพ จึงเป็นการค้านความเชื่อที่ว่ากีต้าร์ Top-Solid จะต้องคุณภาพดีเสมอไป
ไม้ Top-Solid ใช่จะไม่มีข้อเสีย
แน่นอนล่ะว่าไม้แท้อย่าง Top-Solid ย่อมต้องมีข้อดีที่มากกว่า มือกีต้าร์หลายคนจึงเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นการที่เนื้อไม้บางทำให้การสั่นของเสียงค่อนข้างกังวาน สาวกกีต้าร์โปร่งจึงชื่นชอบ หรือการพัฒนาคุณภาพเสียง แต่ใช้ว่าไม้ประเภทนี้จะมีแต่ข้อดีเพราะข้อเสียหลักๆของกีต้าร์ Top-Solid คือการดูแลรักษา เพราะไม้แผ่นเดียวย่อมเปลี่ยนง่ายตามสภาพอากาศ เช่นเดียวกับประตูหน้าต่างที่โดนความร้อนแล้วจะมีการคดงอ ผู้ที่มีกีต้าร์แบบท็อปโซลิดเลยต้องใส่ใจในจุดนี้มากหน่อย อีกทั้งกีต้าร์ Top-Solid เป็นกีต้าร์ที่ต้องการ”เล่นบ่อย” เพื่อให้เนื้อไม้มีการกระทบในความสั่นของเสียงอยู่ตลอดเวลา ถ้าซื้อไปแล้ววางมุมห้องไม่ค่อยได้เล่นเสียงจะมีความทึบมากขึ้น จึงเรียกได้ว่าต้องใช้งานบ่อยพอควร
ดังนั้นยามเลือกซื้อกีต้าร์โปร่ง ควรจะถามความพร้อมของตนเองก่อนว่าเล่นสไตล์ไหน มีการใช้งานบ่อยเท่าไหร่ รวมไปถึงชอบกีต้าร์เสียงแบบไหน เพราะอย่างที่ได้เกริ่นกันไปแล้วว่าหากเล่นฟิงเกอร์สไตล์ก็ต้องท็อปโซลิดอิงเกิ้ลแมนสปรู๊ซ หรือเน้นตีคอร์ดก็ต้องเป็นท็อปโซลิดซิทก้าสปรู๊ซ และต้องไม่ลืมใส่ใจในตัวกีต้าร์ที่ซื้อมาอีกด้วย ถ้าหากคุณทะนุถนอมกีต้าร์อย่างดีใช้งานได้ถูกต้องแล้ว ภายในไม่กี่ปีข้างหน้ากีต้าร์โปร่งเก่าตัวโปรดของคุณจะเสียงดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ขอบคุณบทความจาก guitaradventures
ขอบคุณรูปภาพจาก guitaradventures, Guitarhabits, woodguys
10 กีต้าร์ Signature คนดังที่น่าจับจอง !!!
ปัจจุบันแบรนด์กีต้าร์ดังๆต่างจับเอาตัวศิลปินมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับสินค้ามากมาย ซึ่งนอกจากจะเป็นพรีเซ็นเตอร์แล้วก็ยังมีส่วนร่วมในการออกแบบกีต้าร์ให้คล้ายคลึงกับตัวที่พวกเขาเล่นอยู่เป็นประจำอีกด้วย ทำให้กีต้าร์รุ่น Signature ค่อนข้างได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่นักดนตรี ทางต่างประเทศจึงจัดอันดับ 10 กีต้าร์รุ่นคนดังที่ได้รับความนิยมสูง จะเป็นใครบ้างนั้นไปติดตามกันได้เลย
อันดับ 10 PRS Mark Tremonti Signature
กีต้าร์ PRS รุ่นนี้ได้ Mark Tremonti มือกีต้าร์วง Creed ที่โด่งดังมาร่วมออกแบบ ซึ่งเจ้าตัวนั้นชื่นชอบดนตรีแนวเมทัลค่อนข้างมากทำให้ซาวด์กีต้าร์ตัวนี้ออกมาค่อนข้างดุเลยทีเดียว คอทำมาแบบบางบอดี้สีฟ้าตามแบบฉบับกีต้าร์ที่เจ้าตัวชอบเล่นคอนเสิร์ต ตัวนี้ได้รับการยกย่องว่าเสียงแน่นตีคอร์ดดุถูกใจสาวกเมทัลอย่างแรง
อันดับ 9 Ibanez Steve Vai Signature JEM
ถ้าเป็นมือกีต้าร์แล้วคงไม่มีใครไม่รู้จัก สตีฟ วาย เจ้าพ่อซาวด์กีต้าร์ชาวอเมริกันคนนี้ ดังนั้นกีต้าร์ซิกเนเจอร์ต้องเด่นเรื่องซาวด์กันหน่อย ทาง Ibanez จึงจัดปิ๊กอัพมาให้ 3 ตัวทั้งแบบเซรามิคและแบบแม่เหล็ก Anico นอกจากนี้ยังเพิ่มเสียง Vibrato หรือเสียงสั่นในคันโยกกันด้วยเพื่อสาวกจะได้เล่นกันสะใจ รุ่นนี้ยังมีถึง 24 เฟรตให้แฟนๆ สตีฟ วาย โซโล่กันเต็มที่ จึงไม่แปลกที่รุ่นดีจะเป็นรุ่นท็อปๆที่ขายดีของค่าย Ibanez
อันดับ 8 Randy Rhoads Signature Polka Dot
มือกีต้าร์วงออสซี่ ออสบอร์นที่บางครั้งจะใช้เลสพอลขึ้นเวลทีแต่กลับทำกีต้าร์ซิกเนเจอร์ตนเองเป็นทรง Flying-V แม้ว่าช่วงแรกจะไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่กับบอดี้ลายจุดที่ดูเหมือนเชยๆ แต่หลังจากเจ้าตัวเสียชีวิตลงในปี 1982 ราคาก็พุ่งพรวดกลายเป็นกีต้าร์ล้ำค่าทันที ตัวปิ๊กอัพฮัมบักเกอร์ 2 ตัว ทำให้เสียงดุดันแบบแนวเมทัล
อันดับ 7 Fender Stevie Ray Vaughan Signature Stratocaster
หลายคนอาจไม่รู้จักมือกีต้าร์บลูส์คนนี้ เพราะ สตีวี่ เรย์ วอห์น เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1990 แต่ครั้งหนึ่งเคยโดดเด่นถึงขั้นขึ้นเวทีเล่นคู่กับ เอริค แคล็ปตัน มาแล้ว สิ่งพิเศษของกีต้าร์รุ่นนี้คือเจ้าตัวบอกว่าชอบบอดี้เฟนเดอร์ปี 1963 คอแบบปี 1962 และปิ๊กอัพแบบปี 1959 ทำให้กีต้าร์ซิกเนเจอร์ที่ออกมาตอนปี 1983 นั่นผสมผสานระหว่าง 3 รุ่น ซึ่งเสียงก็คงไม่ต้องบอกเพราะเจ้าของซิกเนเจอร์ยังแนวบลูส์ซะขนาดนี้
อันดับ 6 Dean Dimebag Darrell Signature
แบรนด์กีต้าร์ Dean อาจไม่คุ้นหูคนไทยซักเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นชื่อของ Dimebag Darrell มือกีต้าร์วงแพนเทร่าคงรู้จักกันดี กีต้าร์รุ่นนี้รูปทรงจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก ผลิตจากไม้มะฮอกกานีล้วนๆทุกส่วน เสียงหนาสะใจ บวกกับใช้ปิ๊กอัพ DiMarzio ที่ขึ้นชื่อเรื่องเสียงพุ่งอยู่แล้ว สายเฮฟวี่เมทัลแฟนเพลงของแพนเทร่าหลายคนจึงมักสะสมรุ่นนี้ไว้ในคอลเล็คชั่น
อันดับ 5 ESP LTD James Hetfield Snakebyte
อาจจะกล่าวได้ว่า James Hetfield เป็นผู้ที่ทำให้ชื่อเสียงของกีต้าร์ ESP โด่งดังขึ้นมาก็ว่าได้ เพราะตั้งแต่เจ้าตัวดีไซด์รุ่นสเน็คไบรท์ให้กับแบรนด์ ESP ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ด้วยรูปทรงที่แปลกตาโดดเด่น ซาวด์กีต้าร์ยังร้อนแรงเหมือนของวงเมทัลลิก้าเจ้าของซิกเนเจอร์อีกด้วย เพราะปิ๊กอัพที่ใช้เป็นรุ่น EMG JH SET ที่เจมส์ได้ติดต่อประธานบริษัท EMG ร็อบ เทอร์เนอร์ขอเป็นคนออกแบบการผลิตเอง ดังนั้นซาวด์กีต้าร์จึงครองใจนักดนตรีเกือบทั่วโลก
อันดับ 4 Gibson Buckethead Signature Les Paul
กีต้าร์ของ Buckethead หรือไอ้หัวถังนักดนตรีชาวอเมริกันที่เคยร่วมทำเพลงกับ Gun’N Roses มาแล้ว แม้เจ้าตัวจะโด่งดังในเรื่องการร่วมแจมกับมือกีต้าร์อื่นๆ แต่ตัวกีต้าร์นั้นกลับเป็นที่สนใจอย่างมากเนื่องจากการออกแบบดีไซด์สุดล้ำด้วยสีขาวครีมทั้งตัวแบบไม่มีอินเลย์ สวิทช์สีแดง มีปุ่มเป็นคันโยก วัสดุอื่นๆยังใช้เป็นรุ่นท็อปทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นบอดี้เมเปิ้ล 2 แผ่นซ้อน คอมะฮอกกานีแบบแผ่นเดียว ซาวด์หวานเจี๊ยบอย่างไม่น่าเชื่อจนได้เรตคะแนนถึง 9.9 เต็ม 10 จากการโหวตโดยมือกีต้าร์ทั่วโลกในเวป Gibson เลยทีเดียว
อันดับ 3 Gibson Tony Iommi Signature SG “Monkey”
ซิกเนเจอร์สำหรับกีต้าร์มือซ้ายอย่าง Tony Iommi มือกีต้าร์วงแบล็คซับบาธได้รับการยกย่องว่าเป็นกีต้าร์ที่เสียงดีมาก ด้วยการผลิตในปี 1965 ทำให้กีต้าร์รุ่นนี้มีอายุมากกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ปิ๊กอัพ Gibson P90 ทั้งแบบฮัมบัคกิ้งและซิงเกิ้ลคอยด์ผสานกันอย่างลงตัว แม้ว่าซาวด์จะออกมาหนาดุ แต่ก็มีความนุ่มลึกในเนื้อเสียงเป็นที่นิยมค่อนข้างมาก
อันดับ 2 Eddie Van Halen’s Frankenstrat
รุ่นนี้ดังขนาดไหนก็สามารถทำซีรี่ย์แฟรงค์เก้นสแตรทเป็นของตนเองขึ้นมาได้ แถมเฮียเอ็ดดี้แกยังเก๋าถึงขนาดผสม Fender และ Gibson เข้าด้วยกันโดยทรงจะคล้าย Stratocaster แต่ใช้ปิ๊กอัพแบบฮัมบัคกิ้ง ตัวไม้จะเป็นไม้แอชและเมเปิ้ล มีฟลอยโรสตามสไตล์เจ้าตัว รุ่นซิกเนเจอร์ออกมาให้จับจองกันตั้งแต่ปี 1980 หรือ 35 ปีกว่าๆมาแล้วจึงมั่นใจได้ในคุณภาพเสียง ส่วนตัวจริงที่พี่แกใช้นั้นไม่ต้องพูดถึง ราคาปัจจุบันคือ 40 ล้านบาท เป็นหนึ่งในกีต้าร์หายากของโลกไปแล้ว
อันดับ 1 Fender David Gilmour Signature Black Stratocaster
ซิกเนเจอร์ของมือกีต้าร์วง Pink Floyd ที่หลายคนอาจจะงงว่ามันก็รูปร่างเหมือน Stratocaster ทั่วไปนี่นา ทำไมถึงติดอันดับ 1 และฮิตที่สุดในโลก ก็ไม่มีอะไรมากครับ ตัวที่ David Gilmour ใช้ของแท้นั้นมันมีซีเรียลปั้มเลข 0001 หรือ กีต้าร์ตัวแรกของทรง Stratocaster นั่นเอง (จริงๆแล้วเฟนเดอร์สแตรทตัวแรกที่จำหน่ายซีเรียล 0010) แต่ตัวนี้ดันเป็นของนายลีโอ เฟนเดอร์เจ้าของบริษัทเฟนเดอร์ที่ขายต่อให้กับ ซีมัวร์ ดันแคน และ กิลมัวร์ก็ไปซื้อต่อมาอีกทีนั่นเอง
จริงอยู่ว่าซิกเนเจอร์ที่ออกมานั้นคุณค่าคงไม่เท่ากับของเจ้าตัวหรือแทบจะไม่ต่างกับทรง Strat ทั่วๆไป แต่เนื่องจากใครๆก็อยากรู้ว่าเฟนเดอร์ตัวแรกเป็นอย่างไรคุณภาพเสียงดีแค่ไหน ทำให้รุ่นนี้เป็นที่ยอดนิยมมากที่สุดในโลกไปทันที สำหรับกีต้าร์ซีเรียล 0001 ตัวจริงนั้นเจ้าตัว David Gilmour ก็ได้นำมาเล่นในคอนเสิร์ตฉลองครบรอบ 50 ปี Stratocaster ไปไม่นานที่ผ่านมา ก่อนจะได้รับการตีค่ากีต้าร์ตัวนั้นถึง 50 ล้านบาท