10 วงร็อคชั้นนำของเมืองไทยในยุค 90

หลังจากเพลงร็อคค่อนข้างจะซบเซาในช่วงปี 1980-1990 แม้ว่าจะมีวงดนตรีร็อคมากมายที่คุ้นหูกันดีเช่น ไฮร็อค, ร็อคเคสตร้า แต่เทียบกระแสแล้วยังเป็นรองเพลงป็อปอยู่พอสมควร เพราะหากนึกถึงศิลปินยุคนั้นชื่อของ เบิร์ด ธงไชย, คริสติน่า, แอม เสาวลักษณ์ จะมาก่อนชื่อวงร็อคดังๆเช่น ดิ โอฬาร โปรเจคเสียอีก จนมาถึงกระแสอัลเทอร์เนทีฟที่เหมือนชุบชีวิตเพลงร็อคกลับสู่วงการเพลงไทยอีกครั้ง วันนี้เราจะขอพาไปรำลึกความหลังช่วง 10 ปี ในยุค 90 กับ10 วงร็อคดังๆ ที่สามารถแจ้งเกิดได้อย่างเต็มตัวกับกระแสอัลเทอร์เนทีฟ และต่อยอดมาได้เรื่อยๆ จนต้องเรียกว่าช่วงปีนั้นเป็น”ยุค”ของพวกเขาจริงๆ

 

1993 หินเหล็กไฟ

ถิอเป็นวงดนตรีที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในช่วงก่อนกระแสอัลเทอร์เนทีฟจะมา โดยหินเหล็กไฟนั้นเกิดจากสองสมาชิกวงดิ โอฬาร โปรเจ็คเก่าคือ โป่ง ปฐมพงศ์ และ รงค์ ณรงค์ (มือเบส) ฟอร์มวงใหม่ขึ้นมาและได้ โต นำพล กับ ป็อป จักรรินทร์ มาเล่นกีต้าร์ มือกลองเป็นน้าหมาน สมาน ยวนเพ็งหนึ่งในตำนานกลองเมืองไทย ออกอัลบั้มชุดแรกชื่อชุดเดียวกับวงเมื่อปี 1993 จุดกระแสเพลงร็อคขึ้นมาอีกครั้งดังแทบทุกเพลงในอัลบั้มไม่ว่าจะเป็น ยอม, เพื่อเธอ, นางแมว, พลังรัก และสู้ ก่อนจะต่อยอดอัลบั้มที่ 2 ชุดคนยุคเหล็กในปี 1995 แต่เปลี่ยนมือกลองเป็นเลสเตอร์ ชาวฟิลิปปินส์แทนเพราะน้าหมานไปรับหน้าที่มือกลองให้กับวงคาราวาน ก็มีเพลง หลงกล, มั่วนิ่ม และคิดไปเองติดชาร์ตเพลงอีกเช่นกัน เรียกได้ว่า 2 ปีนี้คือปีทองของวงหินเหล็กไฟวงร็อครุ่นบุกเบิกของช่วงปี 90 อย่างแท้จริง

 

1994 โมเดิร์นด็อก

หลังจากอัลบั้มชุดที่ 1 ของวงหินเหล็กไฟก็ได้มีวงที่จุดประกายเพลงร็อคขึ้นมาอีกครั้งในแนวอัลเทอร์เนทีฟกับค่ายเบเกอรี่ มิวสิคด้วยเนื้อหาที่แปลกแหวกแนวไม่เหมือนใครในเพลงบุษบาต่างจากเพลงทั่วไปที่จะพูดเกี่ยวกับเรื่องความรัก และฝีไม้ลายมือขั้นเทพแน่นปั๋งกับเครื่องดนตรีแต่ 3 ชิ้นคือ ป็อด ธนชัย (ร้อง), เมธี (กีต้าร์) บ็อบ สมอัตถ์ (เบส) และ โป้ง ปวิณ (กลอง) กลายเป็นตำนานของอัลเทอร์เนทีฟไทยไปตั้งแต่เพลงแรกและเป็นวงที่ทำให้ค่ายเบเกอรี่ มิวสิคมีชื่อคุ้นหูนักฟังเพลงอีกเช่นกัน ปี 1994 นั้นถือเป็นปีทองของโมเดิร์นด็อกอย่างมาก ทั้งเพลงบุษบา, ก่อน, มานี, กะลา และบางสิ่ง หรือแทบทั้งอัลบั้มวัยรุ่นยุคนั้นร้องกันได้หมด แค่อินโทรบุษบาขึ้นมาก็กระโดดตัวลอยแล้ว ดังนั้นช่วงเวลาปี 1994 คงไม่มีใครเกินวง โมเดิร์นด็อก วงดนตรีที่เป็นสัญลักษณ์ของยุคอัลเทอร์เนทีฟ

 

1995 แบล็คเฮด

วงร็อคหัวดำที่อดีตสมาชิกวงยูเรเนี่ยมในสมัยก่อนอย่าง ปู อานนท์ (กีต้าร์) และ ต๋อง สมทบ (เบส) ออกมาฟอร์มวงใหม่จึงได้ เอก อภิสิทธิ์ มือกีต้าร์จากวงบิ๊กกัน และ ยุ่น วิโรจน์มาตีกลอง ช่วงแรกนั้นยังเล่นดนตรีกลางคืนทั่วไปแต่ก็ไม่ธรรมดาอยู่แล้วเพราะเป็นอดีตนักดนตรีจึงเล่นร็อคผับ ผับชื่อดังที่สุดของชาวร็อค ก่อนที่ชั่วโมงนั้นกระแสเพลงแนวอัลเทอร์เนทีฟกับค่ายเล็กกำลังมา พวกเขาจึงได้ร่วมงานกับค่ายดนตรีเอ็มสแควร์ออกมินิอัลบั้มที่มีแค่ 4 เพลงในปี 1995 แต่ก็สามารถแจ้งเกิดได้ทันทีกับเพลงยืนยัน ทำให้ชื่อวงแบล็คเฮดเข้าไปอยู่ในใจชาวร็อคหลายคนและต่อยอดด้วยอัลบั้มที่ 2 ซึ่งเอาเพลงของวงอินโนเซนต์อย่าง เพียงกระซิบ มาทำใหม่จนกลายเป็นหนึ่งในเพลงบังคับที่ผับต้องเล่น จากนั้นจึงย้ายมาค่ายมอร์ มิวสิคในปี 1999 ทำอัลบั้ม Pure ส่งเพลง ยิ่งโต ยิ่งสวย และ อยู่ไป ไม่มีเธอ ดังเปรี้ยงจนขึ้นแท่นวงร็อคแถวหน้าของประเทศ

 

1995 สไมล์บัฟฟาโล่

วง”ควายยิ้ม”ที่แจ้งเกิดกับกระแสอัลเทอร์เนทีฟในบ้านเราด้วยเพลงเปิดตัว ดีเกินไป ในปี 1995 ส่งผลให้ 4 สมาชิก ดิษฐ์, เต็น, หนึ่ง และเชษฐ์ ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในวงร็อคชั้นนำของบ้านเราทันที อัลบั้มชุดแรกยังมีเพลง ฟ้ายังฟ้าอยู่ หนึ่งในเพลงฮิตตลอดกาลของพวกเขาเช่นเดียวกัน วงสไมล์บัฟฟาโล่ออกเทปกับค่าย EMI มา 2 ชุดก่อนจะย้ายไปค่ายเมคเกอร์เฮดในเครือแกรมมี่และมีผลงานออกมาอีก 3 ชุด มีเพลงฮิตอย่าง จำใจ และ กุหลาบในมือ แม้ว่าช่วงอยู่แกรมมี่จะสามารถคว้ารางวัลวงร็อคยอดเยี่ยมจากสีสันอวอร์ดมาได้ในปี 1999 แต่กระแสความนิยมถือว่าน้อยลงกว่าตอนอยู่ค่ายEMI จนสุดท้ายแยกวงกันไปเมื่อปี 2000 ช่วงแรกสมาชิกแต่ละคนแยกไปทำอัลบั้มส่วนตัว เช่นดิษฐ์และเต็นไปทำวงชื่อ สไนเปอร์ แต่ปัจจุบันต่างก็ไปทำงานเบื้องหลังกันแทบทั้งหมด เช่น ดิษฐ์ที่ยังคุ้นหน้ากับการเป็นแบ็คอัพให้ เสก โลโซ ในขณะที่เชษฐ์มือกลองหันหลังให้กับวงการไปทำเกษตรกรรม

 

1996 โลโซ

ตำนานนักดนตรี 3 ชิ้นของเมืองไทย โดยเริ่มจากเสก มือกีต้าร์ชาวโคราชที่ตระเวนเล่นผับกลางคืนก่อนจะพบสมาชิกร่วมวงคือ รัฐ และ ใหญ่ ร่วมกันทำเพลงไปนำเสนอกับค่ายมอร์ มิวสิกในเครือแกรมมี่ ตามคำแนะนำของ ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง จึงได้ออกอัลบั้มแรกในชื่อว่า Lo Society แค่เพลงแรก “ไม่ต้องห่วงฉัน” ก็ทำให้คนทั้งประเทศรู้จักกับวงร็อคมากฝีมือวงนี้กันทันที และทำอัลบั้มที่ 2 ในอีก 2 ปีต่อมาซึ่งก็ดังไม่แพ้ชุดแรก ส่งเพลง ซมซาน เป็นหนึ่งในตำนานเพลงร็อคไทย ในช่วงปี 1996 – 2003 นั้นโลโซออกอัลบั้มมาทั้งหมด 5 ชุด และมีอัลบั้มพิเศษประกอบภาพยนตร์จักรยานสีแดงอีก 1 ชุด ซึ่ง 7 ปีทองของโลโซนี้เรียกว่าออกชุดไหนมาก็ดังเปรี้ยงขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ตลอด ถือเป็นการคัมแบ็คกลับมาครองตำแหน่งจ้าวเพลงร็อคของค่ายใหญ่แกรมมี่ได้ในรอบหลายปีหลังจากปล่อยให้ค่ายอินดี้ยึดครองในยุคอัลเทอร์เนทีฟมานาน ก่อนที่จะมีข่าวช็อคแฟนๆเมื่อเสกประกาศยุบวงไปออกอัลบั้มเดี่ยวและมีผลงานจนถึงปัจจุบัน

 

1996 ฟลาย

เป็นวงที่ต่อยอดความสำเร็จทางด้านเพลงร็อคของค่ายแกรมมี่ได้เป็นอย่างดี ด้วยสมาชิก 6 คน มีอี๊ด สำราญ ช่วยจำแนกเป็นนักร้องนำในลุคสกินเฮดแว่นดำจนโด่งดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง วงฟลายฟอร์มวงเล่นกันตั้งแต่อยู่ที่เชียงใหม่โดยช่วงแรกตระเวนเล่นกันตามผับที่เชียงใหม่ ก่อนจะเข้ามาเล่นที่กรุงเทพและได้ทำเดโมเทปไปเสนอค่ายเพลง และได้ออกอัลบั้มกับค่ายแกรมมี่ซึ่งนอกจากลุคของนักร้องนำแล้ว ซาวด์ของวงนี้ค่อนข้างเป็นจุดเด่นเพราะมีทั้งคีย์บอร์ดและตัวแจ็ค มือกีต้าร์เองนั้นก็เป็นคนที่ชื่นชอบการใช้เอฟเฟคอีกเช่นกัน แค่อัลบั้มแรกก็ส่งเพลง บิน เข้าสู่ใจคนฟังได้อย่างทันที ตามด้วย ใบไม้ เพลงช้าๆที่ได้อารมณ์ ช่วง 5 ปีระหว่าง 1996-2001 วงฟลายถือเป็นวงร็อคระดับแถวหน้าของเมืองไทยวงหนึ่งโดยอัลบั้มที่ 3 Fly 2 K สามารถทำยอดขายได้เกิน 1 ล้านตลับและมีเพลงฮิต ชาวนากับงูเห่า ที่ขาร็อคยังร้องได้มาจนยุคนี้

 

1997 บิ๊กแอส

ในช่วงยุคปลายอัลเทอร์เนทีฟนั้น ค่ายเล็กๆหลายค่ายได้เริ่มล้มหายตายจากกันไปตามกำลังทรัพย์ แต่มีค่ายหนึ่งที่ชื่อว่า มิวสิค บั๊กส์ กลับยืนหยัดอยู่ได้เป็นเวลานาน เพราะผู้บริหารค่ายนี้คือ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับค่ายแกรมมี่ ค่ายนี้จัดว่ามาแรงกับการปั้นศิลปินร็อคในยุคนั้นโดยหนึ่งในวงที่แจ้งเกิดกับค่ายคือ บิ๊กแอส วงที่เริ่มมาจากอ็อฟและหมูสองมือกีต้าร์เพื่อนร่วมชั่นเรียนมัธยมตั้งวงดนตรีขึ้นมา และแยกย้ายไปศึกษาระดับอาชีวะจึงได้รู้จัก แด๊ก (ร้อง) และ ต้น (เบส) จึงฟอร์มวงด้วยกันทำเพลง และได้กบ น้องชายของหมูมาตีกลอง ออกอัลบั้มชุดแรกปี 1997 มีเพลงฮิตอย่างทางผ่าน แต่อัลบั้มที่ทำให้พวกเขาดังเปรี้ยงขึ้นมาจริงๆคือชุดที่ 2 XL เมื่อปี 1999 ที่มีเพลงฮิต ก่อนตาย ด้วยซาวด์ดนตรีที่หนักแน่นขึ้นจึงเข้าสู่กลุ่มคนฟังเพลงร็อคได้มากกว่าเดิม ก่อนจะเปลี่ยนมือเบสเป็นโอ๊ค และย้ายไปจีนี่ เร็คคอร์ดเมื่อปี 2004 วงยังได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบันแม้ว่าจะเปลี่ยนนักร้องนำมาเป็น เจ๋ง ก็ตาม โดยมีเพลงฮิตช่วงหลังคือ ลมเปลี่ยนทิศ และ ไม่เดียงสา

 

1998 ลาบานูน

อีกหนึ่งวงดังจากค่ายมิวสิค บั๊กส์ที่ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ เห็นแววตั้งแต่การประกวดฮ็อตเวฟ มิวสิคอวอร์ดครั้งที่ 2 แม้ว่าจะไม่ได้รางวัลใดๆมาเชยชมแต่ก็ได้เซ็นสัญญาทำเพลง โดยสามหนุ่ม เมธี อนันต์ และสมพร เรียนด้วยกันที่โรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ออกอัลบั้มแรกเมื่อปี 1998 ชุดนมสดมีซิงเกิลเปิดตัวคือ “ยาม” ด้วยซาวด์กีต้าร์แบบอาหรับที่แปลกหูชาวไทยทำให้เพลงนี้ดังไปทั่วประเทศภายในเวลาไม่นาน เพลงชุดแรกของลาบานูนนั้นวงที่เล่นห้องซ้อมต้องแกะกันเกือบทั้งอัลบั้มเพราะดังแทบทุกเพลงจริงๆ ซึ่งในปีต่อมาก็ตามกระแสความแรงด้วยผลงานชุดที่ 2 191 ก็โด่งดังไม่แพ้ชุดแรกเช่นเดียวกัน มีเพลงดังทั้ง 191 และ ถูกทุกข้อ ปี 1998-1999 จึงเป็นช่วงลาบานูนฟีเวอร์ในหมู่นักดนตรีเป็นอย่างมาก ปัจจุบันวงนี้ก็กลับมาทำเพลงอีกครั้งคือเพลง เชือกวิเศษ, แพ้ทาง โดยที่ความนิยมจากแฟนเพลงยังไม่เสื่อมคลาย

 

1998 ซิลลี่ฟูลส์

สุดยอดวงร็อคเบอร์ 1 ของประเทศอย่างซิลลี่ฟูลส์ที่ได้ 4 หนุ่ม โต, ต้น, หรั่ง และ เต้ย รวมวงกันทำเพลง ในตอนนั้นได้นำไปเสนอค่ายเบเกอรี่ มิวสิคตั้งแต่ปี 1996 แล้วแต่ได้แค่ออกเป็นชุด E.P หรือมินิอัลบั้มเท่านั้น จนมาสร้างตำนานเมื่อมาเสนอเดโมกับค่ายมอร์ มิวสิคและได้ออกชุด I.Q.180 ขึ้นมา เมื่อปี 1998 มีเพลงดัง สู้ไม่ได้ และ เมื่อรักฉันเกิด ก่อนมีชุด 2 Candyman ในปีต่อมา โดยเปลี่ยนมือกลองมาเป็น ต่อ ส่งเพลงดังๆอย่าง อย่าบอกว่ารัก, เพียงรัก, ฝัน กระแทกใจชาวร็อคจนยอดขายถล่มทลายและชื่อของวงซิลลี่ฟูลส์ก็รู้จักกันไปทั่วประเทศทันที จนซิลลี่ฟูลส์กลายเป็นวงร็อคที่ดังที่สุดของเมืองไทย ในช่วงปี 1999-2002 ที่เป็นอัลบั้ม 2-4 ของซิลลี่ฟูลส์ไม่มีวงร็อควงไหนโค่นพวกเขาจากบัลลังก์ได้เลย แต่หลังจากอัลบั้มที่ 5 ก็มีข่าวช็อคเมื่อ โต นักร้องนำขอถอนตัวออกจากวงด้วยเหตุผลทางศาสนา ทิ้งบทเพลงดังๆอย่าง วัดใจ, ขี้หึง, จิจ๊ะ ไว้เป็นเพลงตำนาน โดยซิลลี่ฟูลส์ก็ยังมีผลงานจนถึงปัจจุบันแม้จะเปลี่ยนสมาชิกทั้งนักร้องและมือกลองก็ตาม

 

1999 กะลา

วงดนตรีที่มีเสียงร้องของหนุ่ม ยุทธพงศ์ นักร้องนำเป็นเอกลักษณ์ โดยกะลาเริ่มมาจากการประกวดเวทีฮ็อตเวฟมิวสิคอวอร์ดครั้งที่ 2 และ 3 แม้ว่าพวกเขาจะหยุดแค่รอบ 10 วงสุดท้ายแต่ก็ยังได้ทำเพลงกับค่ายจีนี่ เร็คคอร์ดส์ในเครือแกรมมี่ ทำให้ 4 สมาชิก หนุ่ม (ร้องนำ), โต (กีต้าร์) นุ (เบส) และ รุส (กลอง) มีอัลบั้มแรกเมื่อปี 1999 ในชื่อชุดเดียวกับชื่อวง อัลบั้มนี้แจ้งเกิดทันทีกับเพลง แม่ครับ และ ไม่มาก็คิดถึง ก่อนจะต่อยอดกับอัลบั้มที่ 2 มีเพลงฮิตอย่าง ขอเป็นตัวเลือก ซึ่งเพลงช้าของวงกะลาที่ได้เสียงแหบๆของหนุ่มถ่ายทอดมักจะติดหูคนฟังอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น 4 นาที, ใช่ฉันหรือเปล่า ช่วงพีคของวงกะลานั้นมีเพลงฮิตติดชาร์ตเพียบและยังได้ทำอัลบั้มรวม Little Rock Project กับวงร็อคชั้นนำวงอื่นๆ แต่หลังจากอัลบั้มชุดที่ 6 “Minute” วงกะลาชุดก่อตั้งก็ได้แยกย้ายกันไป โดยหนุ่ม นักร้องนำยังคงฟอร์มวงกับสมาชิกใหม่ในชื่อเดิมออกผลงานมาอีก 2 ชุด แต่ปัจจุบันก็ได้กลายเป็นศิลปินเดี่ยวเต็มตัวไปแล้ว

 

Peavey KB4 แอมป์เอนกประสงค์

ขายเพียง  17,500฿ จาก  31,400฿

Peavey KB2 แอมป์เอนกประสงค์

ขายเพียง  9,500฿ จาก  16,000฿

10 เพลงดิสนี่ย์ที่ตราตรึงในใจ

ปัจจุบันคงไม่มีใครไม่รู้จักบริษัทเดอะวอลต์ดิสนีย์ ผู้ผลิตการ์ตูนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่ก่อตั้งโดยสองพี่น้องตระกูลดิสนี่ย์คือ วอลต์และรอย ตั้งแต่ปี 1923 โดยสัญลักษณ์ที่ทุกคนต้องรู้จักคือตัวการ์ตูน มิกกี้ เม้าส์ ที่เรียกได้ว่าเป็นพระเอกทำทุนให้กับบริษัทดิสนี่ย์ในช่วงแรก ก่อนจะกำเนิดอนิเมชั่นชั้นเยี่ยมเรื่องอื่นๆมาสู่สายตาผู้ชม โดยอนิเมชั่นเรื่องยาวเรื่องแรกของดิสนี่ย์คือ สโนไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลามและถือเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของการ์ตูนบนจอยักษ์ จุดเด่นของค่ายดิสนี่ย์เองนอกจากภาพยนตร์อนิเมชั่นแล้วยังมีเพลงประกอบการ์ตูนแต่ละเรื่องที่ทำได้อย่างพิถีพิถันตราตรึงใจจนโด่งดังไปทั่วโลกและนำเอาศิลปินดังๆมาร้องอีกต่างหาก ทำให้หลายๆเพลงของดิสนี่ย์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง วันนี้ Musicarms ก็จะมารำลึกบทเพลงจากการ์ตูนดิสนี่ย์ที่หลายๆคนต้องชื่นชอบหรือเคยอยู่ในความทรงจำ

Image result for Under the Sea - The Little Mermaid

Under the Sea – The Little Mermaid

เพลงดังจากอนิเมชั่นเมื่อปี 1989 อย่าง Under the Sea ได้ถูกนำมารีมิกซ์ใหม่โดยนักร้องรุ่นหลังอยู่หลายครั้ง แต่เวอร์ชั่นที่คลาสสิคที่สุดต้องเป็นของ ซามูเอล อี.ไรท์ (Samuel E. Wright) นักร้องชาวอเมริกันที่ขับร้องไว้เมื่อปี 1989 และเป็นผู้ให้เสียงเจ้า เซบาสเตียน (Sebastian) ตัวละครที่เป็นปูในเรื่อง โดยฉากของเพลงนี้เป็นตอนที่เจ้าปูเซบาสเตียนกำลังอ้อนวอนให้เอเรียล นางเงือกล้มเลิกความปรารถนาที่จะเป็นมนุษย์ เพลงนี้แต่งทำนองโดย อลัน เมนเคน (Alan Menken) และเนื้อร้องโดย โฮเวิร์ด อาชแมน (Howard Ashman) ติดหูคนฟังที่เข้าไปชมภาพยนตร์อย่างรวดเร็วและทะยานขึ้นคว้ารางวัลออสการ์ในปีนั้นสาขา Best Original Song ซึ่งเพลงนี้กลายเป็นเพลงหลักของการ์ตูนเรื่อง The Little Mermaid ในอีกหลายเวอร์ชั่น โดยปี 2007 ที่นำมารีเมคทำใหม่ในเวอร์ชั่นบรอดเวย์ก็ยังคงใช้เพลงนี้ประกอบ แต่เปลี่ยนคนร้องเป็น ติตุส เบอร์เกส (Tituss Burgess)

ที่มา en.wikipedia.org/wiki/Under_the_Sea

Image result for Colors of the Wind - Pocahontas

Colors of the Wind – Pocahontas

จูดี้ คูห์น (Judy Kuhn) นักร้องชาวอเมริกัน ได้ขับร้องเพลงนี้เป็นเวอร์ชั่นออริจินัลเมื่อปี 1995 โดยเป็นผลงานการประพันธ์ของ สตีเฟ่น สวอลซ์ (Stephen Schwartz) เและ อลัน เมนเคน (Alan Menken) เพื่อใช้ในการประกอบอนิเมชั่นเรื่องโพคาฮอนทัสเมื่อปี 1995  เพลงนี้โด่งดังถึงขั้นคว้ารางวัลออสการ์มาครองได้ในปี 1995 สาขา Best Original Song โดยเนื้อเพลงกล่าวถึงการเคารพในธรรมชาติและการใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนระหว่าง คน สัตว์ และธรรมชาติ  เพราะเป็นฉากที่โพคาฮอนทัสกำลังโน้มน้าวกัปตัน จอห์น สมิธ ให้รับรู้ถึงความน่าพิศวงของธรรมชาติบนโลกใบนี้ เพลงนี้ยังมีเวอร์ชั่นป็อปที่ วาเนสซ่า วิลเลี่ยมส์ (Vanessa Williams) นักร้องสาวชาวอเมริกันเช่นเดียวกันนำมาร้อง นอกจากจะคว้ารางวัลออสการ์แล้ว เพลงนี้ยังคว้ารางวัลลูกโลกทองคำในสาขาเดียวกัน รวมไปถึงรางวัลแกรมมี่อวอร์ดสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอีกด้วย

ที่มา en.wikipedia.org/wiki/Colors_of_the_Wind

Image result for A Whole New World - Aladdin

A Whole New World – Aladdin

เพลงจากอนิเมชั่นที่โด่งดังเรื่องอาละดิน ที่ได้ แบรด เคน (Brad Kane) และ ลีอา ซาลอนกา (Lea Salonga) สองนักร้องชายหญิงชาวอเมริกันและฟิลิปปินส์เป็นผู้ถ่ายทอด ซึ่งเพลงนี้ได้ ทิม ไรซ์ (Tim Rice) เป็นผู้แต่งเนื้อร้องและ อลัน เมนเคน (Alan Menken) เป็นผู้แต่งทำนอง ออกมาเมื่อปี 1992 ในสไตล์เพลงบัลลาดที่กล่าวถึงโลกใบใหม่ที่กำลังจะค้นพบขณะที่ขี่อยู่บนพรมวิเศษของอาละดิน โดยเพลงนี้ก็สามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขา Best Original Song ไปในปี 1993 และเพลงยอดเยี่ยมแห่งปีของแกรมมี่อวอร์ด เวอร์ชั่นป็อปของเพลงนี้ร้องโดย พีโบ ไบรสัน (Peabo Bryson) และ เรกิน่า เบลล์ (Regina Belle) ซึ่งเวอร์ชั่นนี้กระโดดขึ้นอันดับ 1 บิลบอร์ดชาร์ตโดยเขี่ยเพลง I Will Aways Love You ของ วิทนี่ย์ ฮิวส์ตัน (Whitney Houston) ตกลงมาอีกด้วย เพลงนี้ก็แปลงเป็นเวอร์ชั่นภาษาไทยในชื่อเพลง โลกใหม่ที่สวยงาม

ที่มา en.wikipedia.org/wiki/A_Whole_New_World

Image result for Reflection - Mulan

Reflection – Mulan

เพลงประกอบอนิเมชั่นเรื่อง มู่หลาน ในปี 1998 ที่ได้ ลีอา ซาลอนกา (Lea Salonga) นักร้องสาวฟิลิปปินส์เป็นผู้ขับร้องในอนิเมชั่น โดยเป็นผลงานการประพันธ์ของ แม็ทธิว ไวเดอร์ (Matthew Wilder) และ เดวิด ซิปเพล (David Zippel) และเพลงนี้ยังมีเวอร์ชั่นป็อปที่นักร้องสาวชาวอเมริกันชื่อดังอย่าง คริสติน่า อากีเลร่า (Christina Aguilera) เป็นผู้ขับร้องจนกลายเป็นเพลงเปิดตัวของเธอ ก่อนที่อัลบั้มรวมของตัวหนังเรื่องนี้จะปล่อยออกมาทั้ง 2 เวอร์ชั่น เพลงนี้ใช้ในฉากที่มู่หลานกลับมาบ้านหลังจากล้มเหลวในการสร้างความประทับใจให้กับคู่รัก เพลงสื่อความหมายถึงตัวมู่หลานที่อยากจะให้โลกรับรู้ในตัวตนที่แท้จริงของเธอ โดยเป็นฉากที่เธอกำลังล้างเมคอัพอยู่ในสวนที่บ้านเผยให้เห็นหน้าจริง เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวละครจีนเพลงนี้จึงโด่งดังมากในแถบเอเชียและนำมาแปลงเนื้อร้องในหลายเวอร์ชั่น รวมไปถึงของไทยที่ได้ โฟร์ท นฤมล จิวังกูร เป็นผู้ร้องในชื่อเพลง”เงา”

ที่มา en.wikipedia.org/wiki/Reflection_(song)

Image result for Let It Go - Frozen

Let It Go – Frozen

เพลงดังประกอบอนิเมชั่นเรื่อง ฟรอสเซ่น ในปี 2013 ที่ได้เสียงของ อิดิน่า เมนเซล (Idina Menzel) หรือผู้ให้เสียงเอลซ่า ราชินีน้ำแข็งตัวเอกของเรื่องมาเป็นผู้ร้องเพลงประกอบ โดยผู้แต่งคือ คริสเทน แอนเดอร์สัน โลเปซ (Kristen Anderson-Lopez) และ โรเบิร์ต โลเปซ (Robert Lopez) เพลงนี้สื่อถึงราชินีเอลซ่าที่ต้องออกจากอาณาจักรเพราะสาธารณะชนรับรู้ถึงความสามารถด้านเวทย์มนต์ในการสร้างนำแข็งของเธอ ซึ่งเพลงนี้ก็มีป็อปเวอร์ชั่นที่ เดมี่ โลวาโต (Demi Lovato) เป็นผู้ขับร้อง นอกจากตัวหนังจะได้รับรางวัลลูกโลกทองคำสาขาอนิเมชั่นยอดเยี่ยมแล้ว เพลงนี้ก็คว้ารางวัลออสการ์ในสาขา Best Original Song ในปี 2014 รวมไปถึงแกรมมี่วอร์ด สาขา Best Song Written for Visual Media ในปี 2015 อีกเช่นกัน โดยทำยอดขายไปได้ 10.9 ล้านแผ่นทั่วโลกเมื่อปี 2014 อีกด้วย มีการแปลงเป็นเนื้อร้องหลายภาษา และของไทยก็ได้ แก้ม วิชญานี มาร้องในชื่อเพลง “ปล่อยมันไป”

ที่มา en.wikipedia.org/wiki/Let_It_Go_(Disney_song)

Image result for Can You Feel the Love Tonight - Lion King

Can You Feel the Love Tonight – The Lion King

หนึ่งในสุดยอดเพลงรักจากดิสนี่ย์ที่ใช้ประกอบเรื่อง เดอะ ไลอ้อน คิง เมื่อปี 1994 เพลงนี้ได้ เอลตัน จอห์น (Elton John) สุดยอดนักร้องจากเกาะอังกฤษมาเป็นผู้ขับร้องในซิงเกิ้ล เวอร์ชั่นและเป็นผู้ประพันธ์เพลงร่วมกับ ทิม ไรซ์ (Tim Rice) อีกด้วย แต่เวอร์ชั่นออริจินอลที่ใช้ประกอบอนิเมชั่นนั้นร้องโดย คริสเทิ่ล เอ็ดเวิร์ดส์, โจเซฟ วิลเลี่ยมส์, แซลลี่ ดีวอร์สกี้, นาธาน เลน และ เออร์นี่ ซาเบลล่า (Kristle Edwards, Joseph Williams, Sally Dworsky, Nathan Lane, Ernie Sabella) ซึ่งก็ตามคาดเมื่อคว้ารางวัลจาก 2 เวทีใหญ่ทั้งออสการ์และลูกโลกทองคำในสาขา Best Original Song ในปี 1994 โดยเอลตัน จอห์นผู้ร้องในซิงเกิ้ลเวอร์ชั่นก็ได้อานิสงฆ์ของเพลงนี้รับรางวัลแกรมมี่อวอร์ดสาขา Best Male Pop Vocal Performance อีกเช่นกัน เพลงนี้มีเวอร์ชั่นไทยในชื่อเพลง เธอรู้สึกถึงรักหรือเปล่า ขับร้องโดย สุเมธ องอาจ และ จันทร์จิรา นิ่มพิทักษ์พงศ์

ที่มา en.wikipedia.org/wiki/Can_You_Feel_the_Love_Tonight

Image result for Go the Distance - Hercules

Go the Distance – Hercules

เพลงนี้แต่งโดย อลัน เมนเคน (Alan Menken) และ เดวิด ซิปเพล (David Zippel)  เพื่อใช้ในการประกอบเรื่องเฮอร์คิวลิสเมื่อปี 1997 เวอร์ชั่นประกอบอนิเมชั่นนั้นขับร้องโดย โรเจอร์ บาร์ท (Roger Bart) ผู้ให้เสียงเฮอร์คิวลิส และยังมีเวอร์ชั่นป็อปที่ร้องโดย ไมเคิล โบลตัน (Michael Bolton) นักร้องชาวอเมริกัน โดยเพลงนี้ก็โด่งดังถึงขนาดมีชื่อเข้าชิงทั้งรางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำในปี 1997 แต่โชคร้ายที่ปีนั้นหนังคู่แข่งดันเป็นไททานิค หนังฟอร์มยักษ์ที่กวาดรางวัลไปเพียบ รวมถึงเพลง My Heart Will Go On ที่ชนะทั้งรางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำในสาขา Best Original Song ไป แต่เพลง Go To Distance ก็ได้รับความนิยมไปทั่วโลกไม่น้อย โดยเพลงนี้ใช้ในฉากที่เฮอร์คิวลิสกำลังภาวนาต่อพระเจ้าก่อนพบความจริงว่าเขาคือบุตรของซุส ราชาแห่งทวยเทพ ก่อนที่เขาจะกลับไปเป็นฮีโร่ที่เขาโอลิมปัส สำหรับเวอร์ชั่นภาษาไทยชื่อ “สุดฟ้าดิน” ขับร้องโดย ปั่น ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว

ที่มา en.wikipedia.org/wiki/Go_the_Distance

Image result for We Belong Together - Toy Story 3

We Belong Together – Toy Story 3

เพลงสนุกที่มีกลิ่นอายของดนตรีโซลและบลูส์ ได้แรนดี้ นิวแมน (Randy Newman) นักร้องและนักแต่งเพลงชาวอเมริกันที่เคยทำเพลง Down in New Orleans ในเรื่อง The Princess and the Frog มาแล้ว ครั้งนี้นิวแมนลงมือทำเองทั้งหมดทั้งการแต่งเนื้อร้อง ทำนอง และเป็นผู้อัดเสียงเอง ซึ่งก็หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งเมื่อเพลงนี้สามารถคว้ารางวัลออสการ์ครั้งที่ 83 ในปี 2011 โดยเอาชนะเพลง I See the Light จากเรื่อง Tangled (ราพันเซล) ของทางค่ายดิสนี่ย์เช่นเดียวกัน เพลงนี้เป็นเพลงเปิดตัวเพลงแรกในอนิเมชั่นเรื่อง Toy Story 3 แต่เล่นเอาแฟนการ์ตูนนักสะสมต้องรอเกือบ 2 ปี เพราะในช่วงแรกนั้นค่ายดิสนี่ย์เปิดแค่ให้ดาวโหลดเป็น MP3 เท่านั้น จนปี 2012 ถึงร่วมมือกับค่ายอินทราดา เร็คคอร์ด (Intrada Records) ทำซีดีซาวด์แทร็คย้อนหลังขึ้นมา

ที่มา en.wikipedia.org/wiki/We_Belong_Together_(Randy_Newman_song) 

Image result for Circle of Life - The Lion King

Circle of Life – The Lion King

หนึ่งในเพลงประกอบอนิเมชั่นเรื่องเดอะ ไลอ้อน คิงเมื่อปี 1994 เพลงนี้ได้ ทิม ไรซ์ (Tim Rice) เป็นผู้แต่งเนื้อร้อง ส่วนด้านทำนองเป็นของ เอลตัน จอห์น (Elton John) นักดนตรีชื่อดังชาวอังกฤษ โดยเวอร์ชั่นประกอบหนังนั้นเป็น คาร์เมน ทวิลลี่ (Carmen Twillie) และ เลโบแฮง โมเรก (Lebohang Morake) หรือ เลโบ เอ็ม. (Lebo M.) เป็นผู้ขับร้อง ทำนองนั้นทำได้ฮึกเหิมอลังการสมกับฉากที่ ราฟิกิ ชู ซิมบ้า บนหน้าผาแสดงตัวว่าที่เจ้าป่าในอนาคต โดยเพลงนี้ก็โด่งดังไม่แพ้เพลง Can You Feel the Love Tonight จากเรื่องเดียวกัน จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขา Best Original Song ทั้งคู่ และเป็น Can You Feel the Love Tonight ที่เข้าวินไป อย่างไรก็ตามคะแนนความนิยมของ Circle of Life ถือว่าดีมากขึ้นถึงอันดับ 18 ของบิลบอร์ดชาร์ต และ ทะยานขึ้นอันดับต้นๆของชาร์ตเพลงทั่วยุโรปในปีนั้น จึงต้องมีการแปลงเนื้อร้องเป็นเวอร์ชั่นของหลายประเทศ

ที่มา en.wikipedia.org/wiki/Circle_of_Life

Image result for You'll Be in My Heart - Tarzan

You’ll Be in My Heart – Tarzan

ผลงานเพลงจาก ฟิล คอลลินส์ (Phil Collins) นักร้อง, นักแต่งเพลงชื่อดังชาวอังกฤษ โดยเจ้าตัวเป็นทั้งผู้แต่งและอัดเสียงเองเพื่อใช้ประกอบเรื่องทาร์ซานปี 1999 ส่วนเวอร์ชั่นซิงเกิ้ลได้ เกล็น โคลส (Glenn Close) เป็นผู้ขับร้อง เพลงนี้โด่งดังเป็นอย่างมากจนติดบิลบอร์ดชาร์ตในอันดับที่ 21 และคว้าสองรางวัลใหญ่อย่างรางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำในสาขา Best Original Song ทั้งคู่ รวมไปถึงการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่วอร์ดแต่พลาดรางวัลนี้อย่างน่าเสียดาย เพลงนี้ทำออกมาเป็นเวอร์ชั่นภาษาไทยเช่นเดียวกันในชื่อ เธอแนบข้างใจ ขับร้องโดย สุทธานิน มาลัยพงษ์ ซึ่งฉากที่เพลงนี้ออกมาคือตอนที่ กาลา แม่กอลิร่าที่กำลังกล่อมทาร์ซานให้หยุดร้องไห้และบอกว่าเธอจะเป็นผู้ปกป้องทาร์ซานเอง เข้ากับความหมายของเพลงอย่างมากและเป็นหนึ่งในฉากสุดประทับใจของอนิเมชั่นดิสนี่ย์

ที่มา en.wikipedia.org/wiki/You%27ll_Be_in_My_Heart

นักร้องชายไทย เสียงสูงแสบทรวง

ปกติแล้วเสียงร้องของผู้ชายนั้นจะอยู่ที่เสียงเทเนอร์และเสียงเบส หากเป็นผู้ชายเสียงสูงก็จะเป็นเสียงเทเนอร์มีเรนจ์เสียงที่ระดับ C3-C5 หรือ 2 ออคเต็ป แต่ปัจจุบันทั้งวงการเพลงไทยและเพลงเมืองนอกก็จะมีนักร้องชายที่สามารถทะลุปล้องตรงนี้โชว์พลังเสียงที่แหลมปรี๊ดสูงเวอร์กันซะเหลือเกิน โดยทั่วไปแล้วนักร้องที่เสียงสูงๆจะเป็นเพลงร็อคเสียมากกว่า วันนี้ Musicarms จะพาไปแนะนำนักร้องเสียงสูงของไทยกันเล็กน้อยซัก 5 ชื่อ ที่รับรองได้ว่าเสียงสูงของพวกเขาเขย่าใจคุณอย่างแรง

 

โต ซิลลี่ฟูลส์

วีรชน ศรัทธายิ่ง หรือที่รู้จักกันในนาม โต ซิลลี่ฟูลส์ คืออดีตนักร้องนำวงร็อคเบอร์ 1 ของไทย ที่รักการร้องเพลงมาตั้งแต่ยังเด็กและเมื่อโตมาก็ได้เป็นนักร้องตามผับ ก่อนที่เสียงอันทรงพลังจะไปเข้าตา จักรรินทร์ จูประเสริฐ หรือ ต้น มือกีต้าร์วงซิลลี่ฟูลส์ในปัจจุบันจึงชักชวนเข้ามาร่วใวงกันทำเพลงและได้กำเนิดสุดยอดวงร็อคขึ้นมาเมื่อปี 2539 โดยเพลงของซิลลี่ฟูลส์หลายเพลงนั้นต้องใช้เสียงที่สูงและแข็งแรงในการร้อง ซึ่ง โต สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้หมดครบถ้วนอย่างยอดเยี่ยม เช่นเพลง วัดใจ ที่ว่ากันว่าปราบเซียนยามหลายๆคนร้องคาราโอเกะเพราะไฮโน๊ตของเพลงนี้คือท่อน “ไม่มีวันยอมแพ้” นั้นแทบจะเกินเทเนอร์ของผู้ชายไปเสียอีก แต่โตสามารถร้องเป็นต้นแบบให้แฟนๆได้ทรมานลูกคอกันทั้งประเทศ หรือจะเป็นท่อนแยกของเพลง เพียงรัก ก็จัดว่าสูงไม่แพ้กันเลย

 

แหลม 25 Hours

สำหรับนักร้องเสียงสูงของไทยต้องมีคนนี้เลย สมพล รุ่งพาณิชย์ หรือ แหลม 25 Hours ที่เข้าวงการมาจากการประกวดฮอตเวฟมิวสิคอวอร์ดครั้งที่ 5และค้ารางวัลนักร้องยอดเยี่ยมจนได้เซ็นสัญญากับค่ายแกรมมี่เป็นนักร้องเดี่ยว แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่จึงหมดสัญญาและออกมารวมวงกับเพื่อนๆและแจ้งเกิดทันทีตั้งแต่ชุดแรกกับเพลง ทำได้เพียง ในปี 2552 ก่อนจะต่อยอดอัลบั้มที่ 2 ใน 2 ปีต่อมาและมีเพลงฮิตเช่น คนข้างๆ ซึ่งปัจจุบันได้กลับไปอยู่ค่ายจีนี่ เร็คคอร์ดในเครือแกรมมี่อีกครั้ง มีอัลบั้มที่ 3กับเพลงฮิต แรงโน้มถ่วงให้แฟนได้ฟังกัน โดยชื่อของแหลมนั้นเป็นที่รู้กันดีว่าเสียงสูงปรี๊ดเพราะใครได้ฟังทีแรกจะนึกว่าเสียงผู้หญิงด้วยซ้ำ โดยเพลง ยินดีที่ไม่รู้จัก ที่เป็นหนึ่งในเพลงสร้างชื่อของพวกเขากับท่อน แค่มีเธอใกล้ๆมันก็ใช่ที่สุดแล้ว นั้นทำลายคอคนร้องคาราโอเกะซะเหลือเกิน

 

คิว วงฟลัวร์

คิว สุวีระ บุญรอด นักร้องนำวงฟลัวร์ก็เป็นที่รู้จักกันดีนามนักร้องชายเสียงสูง โดยเจ้าตัวนั้นมีพื้นฐานการร้องมาจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ สาขาดนตรีสากล และเป็นวงคอรัสให้กับโรงเรียน และได้เข้าค่ายแกรมมี่ออกผลงานในนามวงบีไฟว์ ก่อนที่วงฟลัวร์จะเปิดรับออดิชั่นนักร้องและได้มาเป็นนักร้องนำวงฟลัวร์ มีผลงานออกมา 3 อัลบั้ม มีเพลงฮิตมากมายเช่น ฤดูที่ฉันเหงา และ คนที่รออยู่ นอกจากนี้คิวยังได้ไปร้องเพลงประกอบละครอีกหลายเรื่องและโชว์พลังเสียงที่มีพลังและสามารถแตะโน๊ตสูงได้อย่างถึงใจ เช่นเพลง ไว้ใจฉันได้เสมอ ที่ประกอบละคร แผนรักแผนร้ายที่สูงจนร้องตามลำบาก หรือจะเป็นเพลงในอัลบั้มอย่างฤดูที่ฉันเหงาที่คิวโชว์เสียงแบบโอเปร่าและท่อนส่งที่สูงซะจนต้องคัดคนมาคัฟเวอร์กันลำบาก ซึ่งเพลงนี้จัดว่าเป็นเพลงปราบเซียนเพลงหนึ่งของผู้ที่ชื่นชอบการร้องเพลง

 

เป้ ไฮร็อค

นักร้องร็อคชายรุ่นแรกๆที่โชว์พลังเสียงสูงขั้นเทพ โดย อนุวรรตน์ ทับวัง หรือ เป้ ไฮร็อค ชอบร้องเพลงตั้งแต่ยังเด็ก และต้องเป็นผู้ขับร้องนำเวลาละหมาดเพราะเป็นมุสลิม ทำให้ได้สกิลการร้องเพลงมาตั้งแต่ยังวัยรุ่นโดยไม่ได้เรียนร้องที่ไหน เริ่มสนใจดนตรีด้วยการเล่นเบส ก่อนที่นักร้องนำของวงเวลานั้นมักจะรับงานนอกร้องเพลงกลางคืนจนคนในวงเริ่มไม่พอใจ และเป้ก็ได้มาร้องแทนจนกลายเป็นนักร้องนำ และวงไฮร็อคก็ได้ไปเข้าตา เสือ ธนพล โปรดิวเซอร์ชื่อดังขณะมาชมการแสดงที่ร็อคผับและได้เข้าไปอยู่ค่าย RS ออกอัลบั้มแรกปี 2533 ก็โชว์เสียงสูงๆให้ชาวร็อคได้ตะลึงกันในเพลง กว่าจะรู้สึก และกระจกร้าว และมาตอกย้ำกันอีกในอัลบั้มชุดที่ 3 ที่มีเพลงดังที่สุดของวงอย่าง เกินห้ามใจ และ อย่ากลับมา ที่ร้องได้สูงและทรงพลังโดยไม่มีการหลบเสียง จัดเป็นเสียงสูงยุคบุกเบิกของไทยก็ว่าได้

 

เฟิร์ส Slot Machine

คาริญญ์ยวัฒ ดุรงค์จิรกานต์ ที่รู้จักกันในนาม เฟิร์ส สล็อตแมชชีน ชื่ชอบการร้องเพลงมาตั้งแต่สมัยเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยผ่านเวทีประกวดฮอตเวฟมิวสิคอวอร์ดครั้งที่ 6 และได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ซึ่งตอนนั้นใช้ชื่อวงว่า อะลุ่มอะหล่วย ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น สล็อตแมชชีนเมื่อปี 2547 ที่ออกอัลบั้มกับค่ายโซนี่และปรับเปลี่ยนสมาชิกในวงหลายคน โดยเฟิร์สโชว์การร้องเสียงสูงให้คนไทยได้รับรู้ตั้งแต่อัลบั้มแรก ก่อนจะมาดังเปรี้ยงกับเพลง ผ่าน และชุดหลังๆยิ่งเสียงสูงขึ้นเรื่อยๆมาทุกเพลงจนคนร้องตามเริ่มเหนื่อยกับการร้องคัฟเวอร์หรือคาราโอเกะ เช่นเพลง เคลิ้ม กับท่อน เฝ้าคอยทำร้ายตัวเอง ที่คนร้องต้องใช้เสียงหลบยามร้อง ต่างจากเฟิร์สที่ขึ้นเสียงปกติได้แบบดูชิลๆกันเลย หรือจะเป็นเพลง ย้อน ที่ประกอบซีรี่ย์ดังฮอร์โมนส์ ซีซั่น 3 ที่อัดเสียงสูงมาได้แบบแสบทรวง

Taylor Singto BT1-E

ขายเพียง  19,950฿ จาก  28,500฿

5 ปกอัลบั้มสุดแนวของศิลปินไทย

การออกอัลบั้มในแต่ละชุดแล้ว นอกจากการทำเพลงให้โดนใจและเข้าถึงอารมณ์คนฟังแล้ว คาเรคเตอร์ที่ชัดเจนของนักร้องหรือวงรวมไปถึงหน้าปกอัลบั้มก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กันเพราะจะเป็นด่านแรกในการดึงดูดผู้ฟังยามเดินผ่านร้านขาย CD หรือคลิกเข้าไปฟังเพลงในยูทูป แต่ก็มีศิลปินจำนวนไปน้อยที่ออกแนว”อินดี้”ซะเหลือเกินไม่สนหน้าปกอัลบั้มตัวเองทำภาพแปลกๆทั้งที่ปกอัลบั้มทั่วไปจะเป็นรูปศิลปินที่ร้องเพลงนั้นๆหรือโลโก้ของวง วันนี้เราจะขอแนะนำปกเทปสุดแนวของศิลปินไทยมา 5 อัลบั้มที่ออกแบบได้อินดี้โดยไม่แคร์สื่อกันจริงๆ

ไข้ป้าง (2538)

เป็นอัลบั้มเดี่ยวอัลบั้มแรกของ นครินทร์ กิ่งศักดิ์ หรือพี่ป้างของพวกเราที่ตอนนั้นยังร็อคจ๋าในช่วงยุคอัลเทอร์เนทีฟ ดีไซด์ปกได้สุดล้ำจริงๆกับการเอา ท้วม ทรนง นักแสดงอาวุโสของไทยมาขึ้นเป็นรูปหลักและเอารูปตัวเองทำเบลออยู่ด้านหลัง ซึ่งหากใครไม่รู้จักก็คงคิดว่าน้ามีหนวดนี่แหละคือเจ้าของอัลบั้มแน่ๆ สร้างความแปลกและทำให้คนเข้าใจผิดกันไปเพียบ ซึ่งพี่ป้างได้เป็นผู้ออกแบบหน้าปกร่วมกับทางวง ztodio tomo ถึงปกอัลบั้มจะอินดี้ซะขนาดนี้แต่ด้วยเสียงร้องทรงพลังและแนวเพลงที่เปี่ยมด้วยฝีมือก็ทำให้ชุดนี้ดังเปรี้ยงทันที มีเพลงฮิตติดหูคนไทยทั้งเพลงสบายดี, ประตู, คำตอบ และเอื้อมไม่ถึง ทำให้การออกอัลบั้มเดียวของพี่ป้างแจ้งเกิดสวยงามและมีผลงานต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

Smallroom009 (2557)

อัลบั้มที่รวมศิลปินของค่าย Smallroom ไว้ถึง 6 วงโดยวงชูโรงคือ Polycat กับ 3 ซิงเกิ้ลดัง พบกันใหม่, เวลาเธอยิ้ม และเพื่อนไม่จริง แต่ปกอัลบั้มกลับใช้น้องหมาสุดน่ารักมาเป็นแบบซะอย่างนั้น ทั้งที่ดูรายชื่ออีก 5 วงที่เหลือคือ SUMMER STOP, THE JUKKS, SOMKIAT, SLUR และ THE RICHMAN TOY ก็ไม่มีวงไหนที่เกี่ยวกับหมาเลยสักนิด โดยตัวศิลปินทั้งหมดจะไปอยู่ปกด้านในแทน จริงๆแล้วเอาแมวขึ้นปกก็ยังได้เพราะยังเกี่ยวข้องกับวงบ้าง เรียกว่าแนวสุดๆไม่สนกระแสสมกับค่ายอินดี้จริงๆทั้งที่เป็นอัลบั้มแรก แต่ด้วยความสามารถของศิลปินเองก็ทำให้เกือบทั้งหมดที่ปล่อยซิงเกิ้ลมาในอัลบั้มนี้เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักฟังเพลงกันไปหมดแล้ว

Image result for ปก อัลบั้ม เสริมสุขภาพ

เสริมสุขภาพ (2537)

อัลบั้มตำนานของวงโมเดิร์นด็อกที่แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในยุคอัลเทอร์เนทีฟ ที่จริงแล้วอัลบั้มนี้มีปกแบบ Demo คือเป็นรูปหมาใส่แว่นกันแดดซึ่งมีที่มาจากชื่อวง และในการออกอัลบั้มเต็ม 12 เพลงก็ยังอินดี้ไม่เลิกด้วยการใช้ มิตร ชัยบัญชา นักแสดงชื่อดังของเมืองไทยมาขึ้นภาพปก และใช้วิธีนำภาพซ้อนกันโดยรูปหลักเป็นผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งปัจจุบันยังสงสัยว่าเป็นใคร ออกแบบปกโดย วรุฒม์ ปันยารชุน แต่ด้วยฝีมือสุดเจ๋งของวงโมเดิร์นด็อกนั้น ภาพปกอัลบั้มจะเป็นภาพใดพวกเขาก็ดังได้แบบฉุดไม่อยู่ อัลบั้มนี้ติด 1 ใน 10 อัลบั้มอัลเทอร์เนทีฟยอดเยี่ยมของไทย มีเพลงฮิตทั้ง บุษบา, ก่อน, มานี และกะลา ทำให้ชื่อวงโมเดิร์นด็อกกลายเป็นวงร็อคแถวหน้าไปในทันที

Image result for ปก อัลบั้ม มนต์รักสิบล้อ

มนต์รักสิบล้อ (2546)

ถ้าได้เห็นปกอัลบั้มแล้วคงยากจะเชื่อว่านี่คือวงของ ฮิวโก้ จุลจักร เพราะหน้าปกนอกจากคำว่า สิบล้อแล้วส่วนอื่นเป็นภาพวาดแนววินเทจที่แม้จะวาดเหมือนศิลปินทุกคนแต่ความวินเทจทำให้ดูเหมือนปกหนังไทยสมัย 50 ปีก่อนไม่เหมือนอัลบั้มเพลง ซึ่งเคสนี้ยังพอเข้าใจได้เพราะความอินดี้ของนักร้องนำอย่าง ฮิวโก้ เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วและยิ่งได้ เทียรี่ เมฆวัฒนา นักดนตรีชื่อดังมาเป็นโปรดิวเซอร์ให้อัลบั้มนี้จึงแล่นฉิวแบบสบายๆ มีเพลงฮิตที่ดังที่สุดของสิบล้ออย่าง ความลับในใจ และเพลงอื่นๆอย่าง มนต์รักสิบล้อ , รักยังไม่สร่าง แนวเพลงจะมีกลิ่นอายของเพื่อชีวิตพอสมควรและเน้นซาวด์สดไม่ใช้เสียงสังเคราะห์ เป็นชุดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของวงภายใต้ค่ายมอร์ มิวสิค

Legend (2550)

อัลบั้มที่ส่งให้แฟนเพลงได้รู้จักกับศิลปินวัชราวลีกับเพลงดังอย่าง ร่มสีเทา และ Jeep ที่เป็นเพลง Easy Listening ฟังง่ายๆสบายๆได้กลิ่นอายโบราณ แต่การดีไซด์ภาพปกอัลบั้มนั้นเอาชื่อเพลงแรกในอัลบั้มอย่าง ถนนบนต้นไม้ใหญ่ มาวาดเป็นหน้าปก ซึ่งแหวกแนวพอสมควรเพราะหายากมากที่รูปหน้าปกจะเกี่ยวกับเพลงในอัลบั้ม และยังเป็นศิลปินหน้าใหม่ที่คนไม่รู้จักอีกด้วย เรียกว่าไม่กลัวเกรงกันเลยหากคนจะหยิบแผ่น CD ขึ้นมาแล้วสงสัยว่านี่คือวงไหน แต่คนจะดังยังไงก็ฉุดไม่อยู่ ด้วยแนวเพลงนี่ค่อนข้างแหวกนิดๆฟังง่ายๆสบาย เรียบเรียงเนื้อร้องและทำนองได้อย่างลงตัวมีความหมายเป็นคำสอนที่ดีอย่างเพลงร่มสีเทา ทำให้อัลบั้มนี้วงวัชราวลีก็แจ้งเกิดในวงการเพลงเป็นที่รู้จักได้ในที่สุด

9 นักร้องดังจากเวทีสยามกลการ

ปัจจุบันวงการบันเทิงเมืองไทยได้มีเวทีประกวดร้องเพลงขึ้นมามากมาย ซึ่งแต่ละรายการก็จะมีจุดขายที่แตกต่างกันไป ซึ่งถ้าหากใครยังจำได้กันได้ หนึ่งในเวทีรุ่นแรกๆที่โด่งดังก็คือเวทีสยามกลการ ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น KPN หลังจากการจากไปของ คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ผู้บริหารธุรกิจยานยนต์อย่างสยามนิสสันและยังเป็นผู้รักในเสียงเพลงอีกด้วย โดยช่วงหลังแนวรายการกลายเป็นการโหวตจาก SMS ผู้ชมทางบ้าน ทำให้เป็นที่น่าเสียดายเวทีที่เคยมีมนต์ขลังในอดีตซึ่งปั้นนักร้องชั้นนำมาประดับวงการเพลงไทยหลายคนกลายเป็นเวทีคะแนนเสียงมหาชนเช่นเดียวกับรายการอื่นๆ วันนี้ Musicarms จะขอพาไปรำลึกกันว่าเวทีนี้เคยปั้นใครมากันบ้างซึ่งเชื่อว่าชื่อแต่ละรายนั้นโด่งดังไปทั่วประเทศอย่างแน่นอน เป็นเครื่องยืนยันความขลังที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเวทีร้องเพลงอันดับ 1 ในอดีต

 

ธิติมา ประทุมทิพย์

ธิติมา ประทุมทิพย์ หรือที่รู้จักกันในนามแอน คูณ3ซูเปอร์แก๊งค์ มีความสนใจในการร้องเพลงตั้งแต่เด็ก ได้รับรางวัลจากการประกวดร้องเพลงมากมาย ซึ่งหนึ่งในเวทีที่เธอมาคว้ารางวัลก็คือเวทีสยามกลการแห่งนี้ โดยเข้าประกวดเมื่อปี 2534 ร่วมกับพี่สาว อารียา ประทุมทิพย์ และโชว์พลังเสียงได้อย่างประทับใจทั้งคู่ จนแอน ธิติมาไปถึงรอบชิงชนะเลิศระดับเยาชนและได้รางวัลนักร้องดีเด่นประเภทยุวชน โดยขณะนั้นอายุเพียงแค่ 14 ปีเท่านั้น ซึ่งเพลงที่เธอใช้ประกวดคือ Flashdance What a Feeling ของ Irene Cara (ไอรีน คารา) ก่อนจะสร้างชื่อเสียงในเวลาต่อมาด้วยการร้องเพลงประกอบละครอีกหลายเรื่องจนได้ทำเพลงกับค่ายแกรมมี่ในนามวง “คูณ 3 ซูปเปอร์แก๊งค์” โดยภายหลังแยกมาออกอัลบั้มเดี่ยวก็ยังได้รับความนิยมต่อเนื่อง มีเพลงดังติดหูอย่าง ฝันไปรึเปล่า และ เสียงของหัวใจ ที่ร้องกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง

 

ขนมจีน กุลมาศ

กุลมาศ ลิมปวุฒิวรานนท์ หรือ ขนมจีน นักร้องสาวจากค่ายกามิกาเซ่ได้ลงประกวดเวทีสยามกลการในปี 2547 ซึ่งยุคนั้นเป็นชื่อ KPN ไปเรียบร้อย เพลงที่เธอใช้ประกวดคือเพลง เล่นของสูง ของวงบิ๊กแอสและได้ชนะเลิศระดับยุวชน โดยหนึ่งคู่ต่อกรของขนมจีนในรอบสุดท้ายก็คือ หนูนา หนึ่งธิดา โสภณ ก่อนที่จะเข้าสู่สังกัดกามิกาเซ่และได้ออกอัลบั้มเมื่อปี 2550 ในชื่อชุดขนมจีน ส่งเพลงฮิต ตามใจปาก และ แพ้ไม่เป็น ติดหูคนฟังภายในเวลาอันรวดเร็ว กระแสตอบรับดีจนมีผลงานกับทางค่ายมาอีก 4 อัลบั้ม และมีเพลงดังๆมากมายไม่ว่าจะเป็น ระหว่างเพื่อนกับแฟน และ เป็นเพื่อนเธอไม่ได้จริง ๆ จนได้รับรางวัล รางวัลนักร้องหญิงที่สุดแห่งปี 2013 จาก Daradaily The Great Awards ครั้งที่ 5 ช่วงหลังขนมจีนเริ่มมีผลงานการแสดงควบคู่กับการร้องเพลงรวมไปถึงงานละครเวทีอีกเช่นกัน

 

กัน นภัทร

แชมป์จากรายการเดอะสตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาวปีที่ 6 รายนี้เคยเข้าประกวดเวทีสยามกลการเมื่อปี 2543 ในประเภทยุวชนเพลงลูกท่ง ซึ่งขณะแข่งนั้นใช้ชื่อว่า ดช. ชนินทร์ อินทร์ใจเอื้อ และอายุแค่ 9 ปีเท่านั้น โดยเพลงที่ใช้ประกวดคือ ละครชีวิต ซึ่งก็สามารถคว้ารางวัลนักร้องยุวชนดีเด่น ประเภทเพลงไทยลูกทุ่ง หลังจากนั้นก็เดินสายเวทีประกวดมาจนคว้าแชมป์เดอะ สตาร์ โดยหนุ่มจากเมืองสุพรรณรายนี้ก็ได้เซ็นสัญญากับแกรมมี่ปล่อยซิงเกิ้ลเพลง ระยะทำใจ มาให้แฟนเพลงได้ฟังเป็นเพลงแรกและต่อด้วยอัลบั้มแรกในชีวิตชื่อชุด กันเอง แต่ระยะหลังผลงานของกัน นภัทรนั้นเน้นไปทางละครเวทีเสียมากกว่าซึ่งเจ้าตัวก็ทำได้ดีกับเรื่อง สีแผ่นดิน เดอะ มิวสิคคัล, ลมหายใจ เดอะมิวสิคคัล และ มิสไซง่อน จนเบนเขมมาทางการแสดงในละครโทรทัศน์อีกหลายๆเรื่อง

 

ปนัดดา เรืองวุฒิ

นักร้องสาวเสียงดีดีกรีนักร้องดีเด่นเวทีสยามกลการซึ่งขณะนั้นเปลี่ยนชื่อเป็น KPN เมื่อปี 2538 โดยเพลงที่ใช้ประกวดคือเพลง รักที่หลุดลอยของ มณีณุช สเมรสุต และเพลง Free Again ของ Barbra Streisand (บาร์บรา สไตแซนด์) ซึ่งขณะนั้นเธออายุแค่ 16 ปีเท่านั้น เรียกว่าเกินอายุเวทีเด็กนิดเดียวจนต้องมาประกวดเวทีผู้ใหญ่ แต่ปนัดดากลับทำให้ผู้ชมและกรรมการต้องตะลึงด้วยเสียงร้องอันทรงพลังเกินวัยเอาชนะคู่แข่งที่เป็นผู้ใหญ่หลายต่อหลายคนแบบพลิกหักปากกาเซียน จนได้เข้าชิงชนะเลิศรอบสุดท้าย แม้จะไม่ได้ตำแหน่งนักร้องยอดเยี่ยมแต่ก็ได้เข้าไปทำอัลบั้มกับค่ายแกรมมี่โดยมีอัลบั้มออกมาทั้งหมดรวม 15 ชุด มีเพลงฮิตติดหูเช่น ดาวกระดาษที่สร้างชื่อเสียงให้ปนัดดาโด่งดังเป็นพลุแตกทันที และเพลง ดอกไม้ในหัวใจ, คนเลวที่รักเธอ เป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังได้ร่วมแสดงละครเวทีอีกหลายเรื่อง เช่นเรื่อง แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคคัล

 

เจินเจิน บุญสูงเนิน

ประเชิญ บุญสูงเนิน หรือชื่อที่ใช้ในวงการคือ เจินเจิน เป็นคนโคราชที่ได้ศึกษาต่อไปมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยขณะที่กำลังศึกษาอยู่นั้นก็รับจ็อบเป็นนักร้องตามร้านอาหาร และได้มาประกวดเวทีสยามกลการเมื่อปี 2527 รุ่นเดียวกับเบิร์ดธงไชย เพลงที่ใช้ประกวดคือเพลง สุดเหงา และได้รับรางวัลนักร้องดีเด่น แต่ยังไม่ได้เข้าวงการดนตรีจนเมื่อปี 2533 ได้พบกับเจ้าของบริษัทเลปโซ่สตูดิโอขณะร้องเพลงอยู่ร้านอาหารและชักชวนให้ออกอัลบั้มชุดแรกชื่อชุด ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ส่งเพลงดังอย่าง ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง และ ต้องสู้…จึงจะชนะ โด่งดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง และมีอัลบั้มออกมาทั้งหมด 5 ชุดซึ่งติดหูคนไทยหลายเพลงเช่น ข้าคือคนไทย ปัจจุบันเปิดกิจการร้านขายซาลาเปาและเกี๊ยวกุ้งในชื่อ เจินเจินซาลาเปาเกี๊ยวกุ้ง ที่ซอยโชคชัยร่วมมิตร

 

ตั๊ก ศิริพร อยู่ยอด

ตั๊ก ศิริพร หรือที่รู้จักกันในนาม ตั๊ก ลีลา สาวจากนครสวรรค์ เริ่มเส้นทางดนตรีด้วยการเดินสายประกวดร้องเพลงตามเวทีต่างๆในจังหวัด ก่อนที่จะเข้าประกวดเวทีสยามกลการเมื่ออายุได้ 17 ปี ซึ่งเธอก็สามารถคว้ารางวัลนักร้องดีเด่นมาครองได้ โดยเพลงที่ใช้ประกวดคือเพลง เพลงสุดท้าย ของ สุดา ชื่นบาน ซึ่งจากเวทีนี้เองเสียงร้องของเธอก็ได้ไปเข้าตา แจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์ โดยเป็นนักร้องในสังกัดอีเทอร์ทัล ค่ายเพลงของดนุพล มีอัลบั้มออกมาทั้งสิ้น 9 ชุด ในสังกัดนี้ มีเพลงฮิตอย่าง ฉันไม่ใช่นางเอก, ไม่มีฝีมือ และ หมดห่วง จนคว้ารางวัลศิลปินหญิงเดี่ยวยอดเยี่ยม จากสีสันอะวอร์ดส์ ปี 2535 นอกจากการร้องเพลงแล้ว ผลงานการแสดงหลายๆเรื่องของเธอยังตราตรึงในใจคนทั้งประเทศจนล่าสุดก็คุ้นหน้าคุ้นตากันดีกับกรรมการการประกวดร้องเพลงหลายรายการในจอทีวี

 

เจนนิเฟอร์ คิ้ม

เจนนิเฟอร์ คิ้ม หรือที่ตอนประกวดใช้ชื่อจริงว่า พรพรรณ ชุนหชัย เป็นนักร้องตามผับกลางคืนมาก่อนที่จะเข้าประกวดเมื่อปี 2536 ซึ่งเธอก็ทำได้ดีจนเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ โดยเพลงที่ใช้ในการประกวดนั้นคือ ต่อไปนี้ไม่มีใคร ของใหม่ เจริญปุระ และเพลง This Is My Life ของ Shirley Bassey (เชร์ลี่ย์ บาสซี่ย์) แต่เธอก็ไปไม่ถึงฝั่งฝันพลาดรางวัลนักร้องยอดเยี่ยมอย่างน่าเจ็บใจ ซึ่งน่าเสียดายว่าปีที่เธอประกวดนั้นอายุครบเพดานที่กำหนดคือ 25 ปี พอดีจึงมาแก้ตัวปีหน้าไม่ได้แล้ว แต่เพชรย่อมเป็นเพชรอยู่วันยังค่ำเพราะแม้จะไม่ชนะเลิศแต่เจนนิเฟอร์ คิ้มก็ยังรักในการร้องเพลงต่อจนได้ออกอัลบั้ม ชุด JFK ของตนเองปี 2539 และปัจจุบันเมืองไทยยอมรับว่าเธอคือหนึ่งในนักร้องเสียงดีแถวหน้าโดยมีงานอีเวนต์โชว์ตัวต่อคิวยาวเหยียด แบบนี้เรียกว่าไม่ชนะก็ดังได้

 

ทาทา ยัง

อมิตา ทาทา ยัง ผู้สร้างปรากฏการณ์แฟชั่นกางเกงทรงใหญ่ทั่วฟ้าเมืองไทยได้เข้าประกวดเวทีสยามกลการเมื่อปี 2535 ในรุ่นจูเนียร์เพราะขณะนั้นเธออายุแค่ 11 ปีเท่านั้น โดยใช้เพลง One Night Only ของ Jennifer Hudson ซึ่งเธอรักการร้องเพลงมาตั้งแต่ยังเล็กและได้เรียนร้องเพลงกับครูอ้วน มณีณุช สเมรสุตจนครูอ้วนบอกว่าประทับใจในความสามารถของลูกศิษย์รายนี้ และเธอก็ไม่ทำให้เวทีสยามกลการรวมไปถึงผู้ฝึกสอนต้องผิดหวังเพราะสามารถแจ้งเกิดเต็มตัวตั้งแต่อัลบั้มแรกกับค่ายแกรมมี่ในชุด อมิตา ทาทา ยัง โดยทำยอดขายได้เกิน 1 ล้านคลับและขึ้นแท่นซุปเปอร์สารต์หญิงเบอร์ 1 ของวงการเพลงไทยภายในเวลาไม่นาน ก่อนที่จะทำอัลบั้มเพลงไทบมาทั้งหมด 8 ชุด และยังได้ออกกับค่าย Sony ทำเพลงภาษาอังกฤษชื่อชุด I Believe อีกเช่นกัน

 

ธงไชย แมคอินไตย์

ซุปเปอร์สตาร์เบอร์ 1 ของเมืองไทยอย่างพี่เบิร์ดลงประกวดเวทีสยามกลการเมื่อปี 2527 ทั้งที่ชีวิตวัยเด็กนั้นแค่ฝึกร้องกันเองภายในครอบครัวไม่ได้เรียนร้องเพลงที่ไหนด้วยซ้ำ โดยบทเพลงที่พี่เบิร์ดนำมาร้องคือเพลง ชีวิตคือละคร ของคุณ ธานินทร์ อินทรเทพ และได้รางวัลนักร้องดีเด่น ซึ่งหลังจากการประกวดเวทีนี้เสียงร้องของเบิร์ด ธงไชยก็ได้ไปเข้าตา เรวัติ พุฒินันท์ เข้าอย่างจัง จนพี่เต๋อเรวัติต้องดึงตัวมาสู้แกรมมี่ จากนั้นจุดเริ่มตต้นของตำนานนักร้องเบอร์ 1 ของไทยก็เริ่มขึ้น โดยยอดขายอัลบั้มของพี่เบิร์ดนั้นได้รับการบันทึกว่าเกิน 25 ล้านชุด โดยุดรับแขกที่ออกมาเมื่อปี 2545 ทำสถิติเป็นอัลบั้มเพลงเมืองไทยที่มียอดขายสูงสุดเกิน 5 ล้านตลับ และคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ที่สร้างปรากฏการณ์ผู้ชม 120000 คนมากที่สุดของอิมแพค อารีน่า จนคนไทยทั้งประเทศยอมรับว่าเบิร์ด ธงไชยคือศิลปินเบอร์ 1 แห่งยุคของทุกกลุ่มทุกเพศทุกวัย

5 เหตุผลที่ทำไม The Voice Thailand ปีนี้จึงไม่เปรี้ยงปร้าง

เพลงบ้านเราต่อเนื่อง กระแสดีแบบนี้ทางรายการจึงดำเนินมาอย่างต่อเนื่่องจนล่าสุดก็เป็นปีที่ 5 เข้าไปแล้วที่ The Voice ออกสู่สายตาคนไทย แต่สิ่งที่วิจารณ์กันอย่างหนักในโลกโซเชี่ยลยามนี้คือ ซีซั่น 5 นั้นกระแสกลับไม่เปรี้ยงปร้างเหมือนเก่า ประกวดรอบชิงได้ผู้ชนะไปแล้วบางคนยังไม่ทราบข่าว วันนี้เราก็จะขอวิเคราะห์ 5 เหตุผลที่ทำไมรายการประกวดร้องเพลงที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่สุดของประเทศ ถึงวูบได้อย่างหนักในปีนี้ จะมีสาเหตุอะไรบ้างนั้นรับชมได้เลย

เปลี่ยนโค้ช

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโค้ชชุดแรกทั้ง 4 ท่านนั้นเป็นส่วนผสมที่ลงตัวกลมกล่อมทั้งประสบการณ์เรื่องดนตรี การรับส่งมุก และความจัดจ้านในเรื่องคอมเมนต์ ทำให้ผู้ชมได้อรรถรสอย่างเต็มอิ่มนอกเหนือจากเสียงร้องของผู้ประกวด แต่พอโค้ชแต่ละท่านไม่ต่อสัญญาอย่าง สแตมป์ หรือ เจนนิเฟอร์ คิ้ม ทำให้อรรถรสตรงนี้หายไปเพราะคนที่มาแทนอย่าง สิงโตและดา เอ็นโดรฟิน นั้นดูจะยังรับส่งมุกไม่ทัน 2 รุ่นเก๋าอย่างโจอี้ และก้อง สหรัถ อีกทั้งดูเหมือนว่าการคอมเมนต์จะเกรงใจรุ่นพี่พอสมควรไม่มีการเชือดเฉือนเรียกเสียงฮาแบบเดิม รวมไปถึงการจับคู่และเลือกเพลงทั้งรอบแบทเทิ่ลกับรองเดี่ยวที่ยังทำได้ไม่เข้าตาผู้ชมนัก อาจต้องให้เวลาปรับจูนกันซักเล็กน้อยจึงจะสู้โค้ชชุดเดิมได้ ดังนั้นปีแรกๆของโค้ชใหม่มีส่วนทำให้รายการกร่อยไปพอสมควร

 

นักร้องสายพ่นไฟที่หายไป

การประกวดร้องเพลงแต่ละที่ย่อมมีนักร้องสายพ่นไฟหรือโชว์พลังเสียงสุดโหด ซึ่งปีแรกก็จะมีคุณ เกล ดีล่า หรือฝ่ายชายคือ คิง พิเชษฐ์ ในซีซั่น 2 ก็ยังมีแตงโม วัลย์ลิกาและต้าร์ คีตา ซีซั่น 3 มีแนท บัณฑิตา และซีซั่น 4 มีป้าไก่ อัญชุลีอร แม้ว่ารายชื่อเหล่านี้จะไม่ได้เข้าเส้นชัยในบั้นปลายแต่ถือว่าเป็นสีสันของการประกวดให้คนได้ฮืออา และเป็นจุดเด่นที่รายการประกวดร้องเพลงต้องมี แต่กับปีที่ 5 นั้นนักร้องสายพ่นไฟไม่มีปรากฏให้เห็น ทำให้รายการไม่มีเรื่องให้ผู้ชมได้พูดถึง และเป็นเรื่องแปลกสำหรับเวทีประกวดไม่น้อย ทำให้ถ้าจะกลับมาเปรี้ยงปร้างทางรายการคงต้องหวังให้มีสายพ่นไฟแห่กันมาประกวดเยอะๆเพื่อสร้างความฮือฮาและโกยเรตติ้งกลับคืนมา

 

การทำเพลงแนวใหม่ที่ยังไม่โดน

ในแต่ละปีนั้นรายการ The Voice จะฝากบทเพลงที่คัฟเวอร์ใหม่แบบเพราะไม่น้อยกว่าต้นฉบับเดิมไว้อยู่ตลอด สังเกตุง่ายๆคือตามผับคามบาร์นักดนตรีจะต้องเล่นเพลงที่ดังมาจากรายการนี้แทบทุกปี เช่น ทักรักทั้งเกลียด, ฤดูที่ฉันเหงา, สีเทา จนถึงซีซั่น 4 ก็ยังมีเพลง ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน มาให้แฟนๆได้ฮือฮา แต่กับซีซั่นล่าสุดนั้นเพลงที่รายการให้นักร้องคัฟเวอร์กลับเงียบกริบจนไม่มีวงดนตรีกลางคืนวงไหนนำไปเล่นเลย ซึ่งถือว่าผิดปกติมากสำหรับรายการนี้ โจทย์ข้อนี้อาจเป็นเรื่องยากของโค้ชและนักดนตรีสักนิดเพราะการทำเพลงให้ปังไม่แพ้ของเดิมนั้นลำบาก แต่เชื่อว่าด้วยความสามารถของทีมงานแล้วน่าจะกลับมากู้สถานการณ์ตรงจุดนี้ได้เพราะถือเป็นสีสันของ The Voice กันเลย

 

รายการคู่แข่งที่มาแรง

ปัจจุบันรายการประกวดร้องเพลงหน้าใหม่โผล่ขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ทำให้กระแสโซเชี่ยลมีบางคนล้อเลียนเลยว่าเป็นประเทศของนักร้อง สืบเนื่องมาจากรายการบุกเบิกอย่าง AF, The Star จนมาถึง The Voice เช่นกัน แต่รายการรุ่นบุกเบิกเหล่านี้เริ่มทยอยซาและหายไปเรื่อยๆจนล่าสุดก็มี The Mask Singer ที่กระแสแรงอย่างฉุดไม่อยู่กุมหัวใจคนฟังทั้งประเทศ จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการมีคู่แข่งที่น่ากลัวแบบนี้เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้ The Voice เงียบกริบในปีนี้ และหากยังเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆถือว่าลำบากแน่นอน เพราะดูแล้วกระแสของ The Mask Singer ยังไม่แผ่วง่ายๆแน่ อีกทั้งยังจะมีรายการหน้าใหม่อื่นๆมาต่อกรในอนาคตอีกด้วย

 

รสนิยมของคนไทย

ข้อนี้จะสัมพันธ์กับข้อนักร้องสายพ่นไฟที่หายไป เพราะแนวเพลงที่บ้านเราชื่นชอบนั้นจะเป็นเพลงป็อปซะมาก ดูได้จากผู้ชนะเลิศในแต่ละซีซั่นที่โทนเสียงจะมาแนวนี้แทบทั้งสิ้นยกเว้นซีซั่นที่ 2 ทำให้ระยะหลังบรรดานักร้องแนวอื่นๆนั้นหันไปหาเวทีประกวดอื่นที่ไม่ใช่รายการนี้ เพราะถ้าหากมาร้องเสียงโอเปร่านั้นอาจจะโชว์พลังเสียงได้ก็จริงแต่คงโกยคะแนนโหวตจากผู้ชมได้ยาก ด้วยเหตุผลด้านรสนิยมจากคนไทยนี่เองจึงเหมือนมีสิ่งมา”คุลม”รายการนี้ได้ทั้งแนวเพลงและคาแรคเตอร์ของผู้ชนะ ซึ่งทำให้หลายๆคนก็เริ่มเบื่อแนวเพลงป็อปทั่วไปกันแล้ว และอยากให้ผู้เข้าแข่งขันร้องเพลงที่หลากหลายกว่านี้ แต่เชื่อว่าข้อนี้เป็นไปได้ยาก เพราะใครๆก็อยากจะคว้าแชมป์จึงต้องมาแนวที่ดึงคะแนนประชานิยมให้ได้มากที่สุดนั่นเอง