Author Archives: สิรวิชญ์ ขันธรักษ์
วันละ 30 นาทีกับแบบฝึกไวโอลิน
การฝึกไวโอลินให้พื้นแน่น ๆ อาจใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงต่อวันเท่านั้น! ก็ต้องขอขอบคุณ onlineviolineducation.com
ที่เขาช่วยลิสท์รายการฝึกต่อไปนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ได้อย่างละ 3 นาทีทุกวัน เพื่อน ๆ ที่อยากเก่ง ๆ ลองฝึกกันตามนี้ดูนะ
ช่วงแรก (รวม 15 นาที)
– ฝึก shift โดยใช้นิ้วเดิม
– ฝึกการเคลื่อนไหวของนิ้วมือข้างขวา
– ไล่สเกล (เน้นมือซ้าย)
– ฝึกทักษะการสี
– ฝึก vibrato
ช่วงสอง (รวม 15 นาที)
– ไล่สเกล (เน้นมือขวา)
– ฝึกจับฟิงเกอร์บอร์ดหลาย ๆ position
– ฝึก shift โดยสลับนิ้ว
– ฝึกความแข็งแรงของนิ้วนาง
– ไล่สเกลด้วยการสีไปด้วย
สิริรวมครึ่งชั่วโมง ถ้าทำได้เป็นกิจจะลักษณะละก็ จะทำให้เรามีพื้นฐานที่แน่น และทำให้พัฒนาทักษะอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย
6 วิธี เปลี่ยนไวโอลินถูก ๆ ให้เสียงเพราะ
คุณภาพของไวโอลินเป็นเรื่องตามราคา จ่ายถูกจะได้เสียงสุดยอดเท่าของเป็นหมื่น ๆ ก็คงเป็นไปไม่ได้แน่ล่ะ
แต่ยังไงก็ดี ยังพอมีวิธีดี ๆ ที่ช่วยทำให้เสียงไวโอลินถูกดีขึ้นมาในระดับที่สังเกตได้เหมือนกันนะ
1. ใช้สายดี ๆ
เราอาจจะต้องไปลงทุนกับอะไรอย่างอื่น เพื่อให้ได้เสียงที่ดีขึ้น สายก็เป็นตัวเลือกที่น่าลงทุนเพื่อปรับเสียง นอกจากนี้สายยังมีย่านเสียงที่แตกต่างกันไป เลือกที่เข้ากับรสนิยมก็ทำให้รู้สึกว่าเสียงดีขึ้น ตรงใจขึ้นตามนั้นเลย
2. จับคู่กับคันชักคุณภาพ
คันชักที่ราคาแพงหน่อยจะมีองค์ประกอบที่มีคุณภาพ และช่วยเวทเพื่อลดคุณภาพเสียงราคาถูกของตัวไวโอลินลงไปได้
3. จงเล่นให้มาก !
ไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีที่ประหลาด มันต้องการ ‘การวอร์มอัพ’ ตลอดเวลา ปากต่อปากของนักไวโอลินต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวว่าไวโอลินยิ่งเล่นมาก ๆ เสียงก็จะยิ่งดี
4. บรรจงเลือกยางสน
ยางสนที่ดีมีคุณภาพ จะทำให้เสียงไวโอลินดีขึ้น นอกจากนี้ ถ้าเลือกยางสนที่เหมาะกับสไตล์ของเรา ก็ยิ่งทำให้ได้เสียงที่ไพเราะและลงตัวขึ้นเป็นกองเลยทีเดียว
5. เลือกที่วางคางน้ำหนักเบา
เพราะเจ้าที่วางคางนี้ ยิ่งเบาก็ยิ่งดี เพราะการที่มีน้ำหนักมากอาจจะไปกดทับหน้าไม้ไวโอลิน และลดการสั่นของเสียงเอาได้
6. เชคเสมอว่าสายเพี้ยนรึเปล่า
เล่นบนเครื่องดนตรีที่สายเพี้ยนก็เหมือนการโกหกตัวเอง เชื่อเอาว่าเสียงที่เพี้ยน ๆ เป็นเสียงที่ถูก มีปัญหาต่อการจับเสียงในอนาคตได้ นอกจากนี้ขณะสายที่เพี้ยน จะลดคุณภาพในการเปล่งเสียงของไวโอลินด้วย
==========================================
ขอขอบคุณชาแนล The Online Piano and Violin Tutor บน Youtube
ติดตามบทความอื่น ๆ ได้ที่ musicarms.net/category/content
เริ่มฝึกไวโอลิน พร้อมอุปกรณ์เสริม, มิ้ว
เมื่อสถานการณ์ไม่เอื้อให้เล่นเสียงดัง ๆ “มิ้ว” จึงเป็นทางออกของนักไวโอลิน
ตอนที่คันชักถูกสีลงไปที่สาย การสั่นจะแผ่ไปตามสายลงไปที่สะพานสาย และลงไปภายในช่องว่างของไวโอลิน เกิดเป็นเสียงออกมา
อุปกรณ์ที่ถูกสร้างมาเพื่อลดการสั่นก่อนจะลงไปที่ช่องว่างในตัวไวโอลิน นั่นก็คือ “มิ้ว”
มิ้วที่ยิ่งหนัก (เป็นเหล็ก) จะลดเสียงได้ดี แต่นั่นจะทำให้เป็นภาระต่อตัวไวโอลินและคนเล่นตามไปด้วย ซึ่งยังมีข้อเสียต่อสะพานสาย และหากตกลงไปบนตัวไวโอลิน อูยยย ไม่อยากจะพูด เจ็บตัวทั้งไวโอลิน ทั้งใจเจ้าของ
ฟังข้อเสียอาจจะดูแย่เอามาก ๆ แต่ มิ้ว นอกจากจะเป็นอุปกรณ์ลดมลพิษทางเสียงต่อเพื่อนบ้านแล้ว ยังช่วยฝึกทักษะไวโอลินได้ดีอีกด้วย
เนื่องจากเมื่อไวโอลินถูกลดการสั่นของสายลง สิ่งที่เหลือพอจะฟังออกคือ “สำเนียง” ของไวโอลิน และนั่นทำให้เรา
“ไม่ต้องไปพะวงกับความไพเราะเพราะพริ้งของตัวเครื่องดนตรีมาก แต่เจาะลงไปที่การเล่นล้วน ๆ”
ยังไงก็แล้วแต่ การสำรวจไวโอลินเราให้ถ้วนทั่ว ก็เป็นสิ่งจำเป็น และตอนนั้น เราไม่จำเป็นต้องพึ่งเจ้าเหล็กเกาะสะพานสายตัวนี้นัก
เพราะบางครั้งเราจำเป็นต้องหาช่วงของเสียงไวโอลินของเรา หาเนื้อเสียงตามตำแหน่งสีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มช่วงในการบรรเลงให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
สรุปเลยก็คือ ถ้าอยากหาตำแหน่งในการบรรเลง เมื่อนั้น ไม่ต้องสนใจมิ้วเลย
แต่ถ้าเกรงใจเพื่อนบ้าน และเน้นฝึก “การเล่น” จริง ๆ มิ้วช่วยคุณได้ล่ะ
ขอขอบคุณ violinschool.org
4 คำแนะนำสำหรับ การเลือกที่รองบ่าไวโอลิน
การใช้ที่รองบ่าสำหรับเล่นไวโอลิน ช่วยลดภาระของต้นคอ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องความถนัดส่วนบุคคลอีกด้วย นักบรรเลงไวโอลินที่โด่งดังมีทั้งที่ใช้ และไม่ใช้เจ้าผลิตภัณฑ์ตัวนี้
แน่ล่ะ ถ้าคุณเลือกที่จะใช้มันแล้วหรือยังไม่แน่ใจก็ตาม เราจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ จะได้ไม่พลาดเสียเงินฟรี ๆ กันไป ถูกไหมเอ่ย? วันนี้เราจะมานำเสนอคำแนะนำในการเลือกที่รองบ่าไวโอลินกัน
1. ข้อดี ข้อเสีย ที่ต้องรู้
– ข้อดี: มือใหม่ อาจจำเป็นต้องใช้ที่รองบ่าเพื่อปรับบุคลิกในการเล่นให้เหมาะสม และช่วยลดอาการเจ็บเนื่องจากวางไวโอลินผิดท่าได้
– ข้อเสีย: บางคนว่าการใช้ที่รองบ่า จะลดอิสระในการสื่ออารมณ์บรรเลง จำกัดท่วงท่าในการเล่น และยังพลาด ไม่ได้สัมผัสการสั่นของเสียงบนตัวไม้ไวโอลินอีก (หมดฟีลเลยทีเดียว)
2. ที่รองบ่าแบบไหน ที่เข้ากั๊นเข้ากัน
ที่รองบ่าบางตัวสัมผัสนุ่มกว่า ทำให้รู้สึกสบาย ในขณะที่แบบที่แข็ง ให้ความกระชับมั่นคงได้ดีกว่า และต้องพิจารณาจากรูปร่างช่วงคอ ช่วงไหล่ของคุณ
เพื่อหาที่รองบ่าที่เหมาะกับเราจริง ๆ
3. ไม่อยากเสียกะตังค์ ทดลองดูซะหน่อย
สำหรับบางคนที่ยังไม่อยากลงเม็ดเงินเพื่อซื้อที่รองบ่า อาจจะทดลองใช้ฟองน้ำ หรือผ้าสักชิ้น ติดกับไวโอลินแทนเอาก็ได้ เผลออาจจะไม่ต้องเสียสักแดงเลย ถ้าลองแล้วมันเวิร์ค
4. มีผลกับเสียงไวโอลินไหม
เป็นไปได้ เมื่อที่รองบ่าที่ติดกับไวโอลิน จะไปสัมผัสกับบริเวณหน้าไม้ และจุดนี้เองที่มันอาจจะไปลดการสั่นของเสียงภายในตัวไวโอลินเอาได้เหมือนกัน ดังนั้นถ้ากลัวเสียงจะผิดเพี้ยนไป เลือกที่รองบ่าที่มีหน้าสัมผัสกับไวโอลินที่น้อย ๆ ก็ยิ่งดี
ถ้าอ่านข้อแนะนำสั้น ๆ ทั้ง 4 ข้อนี้แล้ว อาจจะช่วยให้เราชั่งใจได้ดีขึ้น ในการจะซื้อที่รองบ่าให้เราได้เลยล่ะ
================================================
ขอขอบคุณ normans.co.uk
เปลี่ยนไวโอลินถูก ๆ ให้ส่งเสียงสวรรค์ด้วยเชื้อรา!!?
เห็นจั่วหัวกันโต้ง ๆ แบบนี้ ไม่ใช่ว่าจะไปลองเอาไวโอลินไปจุ่มในน้ำคลองน้ำขังกันเอาเองหรอกนะ 😛
งานนี้นักวิทย์อย่างศาสตราจารย์ Francis Schwarze จากศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีรัฐบาลกลางแห่งสวิตเซอร์แลนด์ เขาใช้เชื้อราสายพันธุ์เฉพาะ
ชื่อ physisporinus vitreus และ xylaria longipes เท่านั้น
‘จารย์แกเห็นว่าไวโอลินชั้นเลิศ ส่วนประกอบจากไม้ที่มีความหนาแน่นต่ำ และยืดหยุ่นสูงเสียงผ่านเร็ว นี่แหละเป็นส่วนประกอบชั้นดีสำหรับไวโอลินคุณภาพสูง พอย้อนกลับไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ถึงต้น ศตวรรษที่ 18
ที่เป็นช่วง ‘Cold Period’ ที่ฤดูหนาวยาวนาน และฤดูร้อนยังคงมีอากาศเย็น สภาพอากาศนี้แหละที่เกลาเนื้อไม้ในป่าให้มีสภาพความหนาแน่นต่ำยืดหยุ่นสูงอย่างช้า ๆ และคนที่ได้รับผลประโยชน์จากการเลือกไม้เหล่านี้ ก็คือ
ช่างทำไวโอลินผู้เลื่องลือระบือนาม ชื่อ Antonio Stradivari ที่เป็นเวลาหลายร้อยปีต่อมา ไวโอลินยี่ห้อ Stradivarius ผ่านงานไม้งานมือของช่างผู้นี้ก็กลายเป็นตำนานของสุดยอดไวโอลิน
เพื่อจะเลียนแบบไม้ที่ผ่านสภาพอากาศแบบนั้นในยุคโน้น เชื้อราที่มีคุณสมบัติลดความหนาแน่นของเนื้อไม้ จึงถูดคัดสรรมา แต่นั่นไม่พอ
โชคร้ายหน่อยที่ว่า โดยทั่วไป พวกมันจะดันไปลดสมบัติในการยอมให้เสียงผ่านเนื้อไม้ลงไปด้วย ซึ่งนั่นทำให้เสียงผ่านไปได้ช้าและส่งผลแย่ในการนำไปทำเครื่องดนตรี
แต่เป็นข้อยกเว้นสำหรับ physisporinus vitreus และ xylaria longipes
“ความพิเศษของเชื้อราชนิดจำเพาะพวกนี้ คือ พวกมันค่อย ๆ ย่อยผนังเซลล์และทำให้ผนังเซลล์บางลง แม้จะยิ่งเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการย่อยเนื้อไม้ก็ตาม พวกมันยังกลับเหลือความเป็นโครงร่างแข็งของเนื้อไม้ไว้
และนั่นส่งผลให้คลื่นเสียงยังเคลื่อนผ่านได้ดีอยู่” ศาสตราจารย์กล่าว
ถ้าเทคนิคนี้ได้การยอมรับกันละก็ ไม่แน่ว่านอกจากยางสนที่เราต้องใช้มาถูกับสายแล้ว ก็ไม่แน่ว่า เราอาจจะต้องเก็บเชื้อราเอามาขัดไวโอลินของเราด้วยก็เป็นได้นะ :3
==========================================
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก telegraph.co.uk และภาพจาก hardydiagnostics.com
มาดูกันว่า ทำไม อัจฉริยะอย่างไอสไตน์ถึงเล่นไวโอลิน
“โต๊ะ เก้าอี้สักตัว ชามผลไม้สักชาม แล้วก็ไวโอลินอีกตัว จะมีอะไรอีกไหมหนอ เท่าที่คนสักคนจะควานหาเพื่อความสุขได้อีก” — อัลเบิร์ต ไอสไตน์
ไอสไตน์นอกจากจะรู้จักกันในฐานะนักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลแล้ว เขายังเป็นนักเล่นไวโอลินตัวยงอีกด้วย คร้ังหนึ่งเขากล่าวว่า ถ้าเขาไม่ได้เป็นนักฟิสิกส์ เขาคงจะเป็นนักดนตรีไปแล้ว
ไอสไตน์เปิดเผยเสน่หาที่เขามีต่อดนตรีอย่างชัดเจน เขาคิด เขาฝันกลางวัน เขาใช้ชีวิต อยู่บนโลกของดนตรี และทฤษฎีสัมพัทธภาพอันดังทะลุโลกของเขา ถือกำเนิดมาจากดนตรีที่เขาอยู่กับมันมาทั้งชีวิต
นี่อาจจะฉีกภาพของไอสไตน์ของใครหลาย ๆ คน ภาพของนักคิดที่ควรจะเต็มไปด้วยตรรกะ ระบบระเบียบและเหตุผล กลับแทนที่ด้วยความเชื่อ และความงดงามร้อยเรียงแห่งดนตรีไปซะสิ้น
“ทฤษฎีสัมพัทธภาพดลบันดาลขึ้นมาในใจของผม และดนตรีคือแรงผลักดันให้เกิดสิ่งนั้น พ่อแม่ให้ผมเล่นไวโอลินแต่หกขวบ การค้นพบของผมคือผลลัพธ์จากมุมมองผ่านเสียงดนตรี” ไอสไตน์กล่าว
ในวาระร้อยปีครบรอบการตีพิมพ์งานวิจัยพลิกประวัติศาสตร์ของไอสไตน์ ‘ไบรอัน ฟอสเตอร์ นักฟิสิกส์อนุภาค’ วิจารณ์ความชื่นชอบในตัวโมซาร์ทของไอสไตน์ ว่าเขาเป็นพวก “นิยมขนบเดิม”
และนั่นเป็นที่มาของความคิดรากฐานของไอสไตน์
บทบรรเลงของโมซาร์ทคือภาพของจักรวาลที่ ‘เป็นการประสานกันอย่างลงตัว’ และนั่นเอง ที่ทำไมไอสไตน์ถึงพยายามจะอธิบายเอกภพบนคณิตศาสตร์ที่เรียบง่ายที่สุด ลงตัวที่สุด
ไอสไตน์ติดใจในดนตรีของโมซาร์ท เขาว่า “มันเหมือนราวกับว่า…โมซาร์ทไม่ได้ ‘สร้าง’ บทประพันธ์ของเขาเลย…เขา ‘ค้นพบ’ มันต่างหาก…”
เพราะอย่างนั้น ไอสไตน์ถึงเล่นไวโอลิน ไวโอลินที่บรรเลงเพลงของโมซาร์ท เขาไม่ได้เล่นเพราะโมซาร์ทสร้างบทประพันธ์นั้น แต่เขาเล่นเพราะเขากำลังค้นหาความจริงที่มีอยู่แล้วต่างหาก
จาก 6 ขวบ จนย่างวัยหนุ่ม
ไอสไตน์ค้นพบทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพ’ ผ่านการบรรเลงบนไวโอลิน
==============================================
ภาพจาก openculture.com
ขอขอบคุณ 99u.com และ openculture.com
แกนสายไวโอลิน 3 ชนิด ต่างกันอย่างไร
สายไวโอลินแต่ละยี่ห้อ แต่ละประเภทให้เสียงที่แตกต่างกัน และปัจจัยหนึ่ง ๆ ที่ควรมองก็คือ แกน ที่ใช้ทำสายไวโอลินนั่นเอง
ซึ่งสำหรับไวโอลินมีแกนอยู่ 3 ประเภท และมีลักษณะเด่นในแต่ละย่านเสียงต่าง ๆ กันไป เราลองมาดูกันดีกว่าว่า แกนแต่ละแบบให้เสียงสไตล์ไหน ต่างกันอย่างไร
1. แกนไส้แกะ (Gut Core)
อาจจะฟังดูสยอง 😯 แต่ในยุคที่เทคโนโลยีไม่พัฒนา สายเครื่องดนตรีมักทำมากจากไส้แกะเพียว ๆ โชคดีหน่อยว่า สำหรับปัจจุบัน ไส้แกะจะถูกใช้เป็นแกนกลางแล้วพันด้วยเหล็กหมด มีความตึงค่อนข้างน้อย และให้เสียงออกมาช้ากว่าแบบแกนใยสังเคราะห์ ข้อเสียหลัก ๆ เลยคือ เสียงมักจะเพี้ยนบ่อย และมีราคาแพง ให้เสียงที่ค่อนข้างรุ่มรวย ซับซ้อน เหมาะมาก ๆ กับโทนเสียงแนวบาโรค
2. แกนเหล็ก (Steel Core)
ให้เสียงที่ชัด แหลมบาง ให้ย่านเสียงที่แน่นอน เรียบง่าย และเพราะมักพันด้วยเหล็กหลากชนิดขึ้นกะแต่ละเจ้า จึงมีเสียงที่หลากหลายต่างกันไปตามยี่ห้อ เหมาะมาก ๆ กับคนที่เล่นไวโอลินที่ไม่ใช่สายคลาสสิค ทั้งแนวโฟลค์ คันทรี่ หรือแจ๊ส
3. แกนใยสังเคราะห์ (Synthetic Core)
แกนกลางเป็นใยสังเคราะห์ตระกูลไนลอน ให้เสียงคล้ายกับแบบแกนไส้แกะ แต่มีการตอบสนองตอนสี ที่เปล่งเสียงเร็วกว่า และสายไม่เพี้ยนบ่อย น่าเสียดายว่าอาจจะไม่ได้มีเสียงที่รุ่มรวยเท่าแบบแกนไส้แกะ นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลาดแกนใยสังเคราะห์มีความหลากหลาย เนื้อเสียงต่าง ๆ กันไปตามแต่ละผุ้ผลิต
จะเห็นว่าแต่ละแกน มีจุดเด่นด้อยต่าง ๆ กัน ก็เลือกดูให้ดี ๆ เอาให้เหมาะกับสไตล์การเล่นของเราด้วย
ขอขอบคุณ ifshinviolins.com
2 ขั้นตอน เสกกีต้าร์เป็นบันโจ
บันโจ ถือเป็นเครื่องดนตรีสไตล์ลูกทุ่งแบบฉบับฝรั่งมังค่า ให้เสียงตะแหน่วๆ เหมาะมาก ๆ กับฟีลเพลง Country แน่นอนว่าราคาของมันนี่ไม่ได้ถูก ๆ
จะให้ขวนขวายหาซื้อมาเพื่อเล่นเพลง 2 เพลง ขำ ๆ ก็ดูจะกระไรอยู่ ดังนั้น!
หัวข้อวันนี้ ถือว่าเป็นอะไรสนุกให้ไปทดลองทำกันดู สำหรับคนที่อยากให้กีต้าร์ทำเสียงแปลก ๆ ใหม่ ๆ โดยไม่ต้องลงทุนเสียเงินมากมาย
เริ่มกันเลย
1. จูนสายใหม่
บันโจ มีทั้ง 5 สายซึ่งพบบ่อยที่สุด และ 6 สาย ถ้าจะให้กีต้าร์เป็นบันโจ 5 สาย สาย 6 E ที่อยู่บนสุดจะต้องเอาออก หรือเลี่ยงที่จะเล่น และตั้งสายตั้งแต่สาย 5 ลงไป ดังนี้
G, D, G, B, D
ถ้าเลือกเป็น 6 สาย ก็ไม่ต้องตั้งสายใหม่
แบบ 5 สาย จะได้สไตล์ picking pattern แบบบันโจทั่วไปจริง ๆ
2. ติดตั้งอุปกรณ์เสริม
สำหรับกีต้าร์ไฟฟ้า ให้สอด”ฟองน้ำ” ที่ตัดไว้พอดีสอดใต้สายกีต้าร์บริเวณระหว่างปิ๊กอัพ ตรงนี้ต้องเลือกความหนาให้พอดิบพอดี
สำหรับโปร่ง ให้ยัด”ลูกโป่ง”ก่อนเป่า เข้าไปในโพรงเสียง จากนั้นเป่าทั้งๆที่ลูกโป่งยังคาอยู่ข้างใน จนขนาดลูปโป่งขยายมาชนกับสาย จึงค่อยมัดลูกโป่ง
ทะด้า….! จากนั้นกีต้าร์ก็จะกลายเป็นบันโจในบัดดล
ทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เพื่อน ๆ ขี้เบื่อ ไปลองเล่นดู เปลี่ยนเสียงกีต้าร์มาแก้เบื่อกันดูซะหน่อยเป็นไร 😛
==============================================
ขอขอบคุณช่อง LuvABullTN และ davewestwoodMUSIC บน Youtube
Chorus Effect เอฟเฟคที่เสียงเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
“เมื่อเลือกจะมีเอฟเฟคคอรัสไว้ในครอบครอง สิ่งที่ต้องถามตัวเองก็คือแนวดนตรีเราเป็นยุคไหน เลือกคอรัสให้เข้ากับแนวของเรา”
เอฟเฟคอย่าง Chorus มักถูกใช้เพื่อทำให้ไลน์ดนตรีมีความหนามากขึ้น ถือเป็นสัญลักษณ์ของดนตรียุค 80 เลยทีเดียว เสน่ห์ที่เย็นวาบ เสียงดังว้องๆ ของมัน ถือเป็นลักษณะของแนวดนตรีของยุคนั้นเพราะมันถูกใช้อย่างล้นหลาม
แต่…ถึงแม้มันจะเป็นที่นิยมในยุค 80 เอฟเฟคชนิดนี้ก็ปรากฏแก่วงการดนตรีตั้งแต่ยุค 60 ไปแล้ว และถูกใช้โดยศิลปินผุ้ยิ่งใหญ่อย่าง Jimi Hendrix ด้วย
ความตั้งใจแต่เดิมของมันมีเพื่อจะ ‘เลียนเสียง Rotary Speaker’ หรือลำโพงที่ขณะทำงาน ตัวลำโพงจะหมุนไปด้วยพร้อม ๆ กัน ให้เสียงคล้ายออร์แกน
ตัววงจรถูกออกแบบให้แยกสัญญานออกเป็นสองส่วน ส่วนสัญญานกีต้าร์เดิม และสัญญานที่ถูกแปลงความถี่เล็กน้อย ผสมกับเข้าไปกับสัญญานเดิมโดยช้ากว่าเดิมในระดับมิลลิวินาที
แต่ทว่ามันกลับล้มเหลว
ถึงอย่างนั้น มันกลับให้เสียงดัง ‘ว้องๆ’ ที่เป็นลักษณะเฉพาะ กลายมาเป็นแม่แบบของเอฟเฟคตระกูลนี้ในเวลาต่อมา
ในยุค 60 คอรัสจะให้สัมผัสวูบ ๆ วาบ ๆ เสียงมีการ vibrato ทำให้เสียงเพี้ยนไป ๆ มา ๆ เป็นเอฟเฟคตระกูล uni-vibe
ในยุค 70 ให้เสียงในโทนสว่าง ออกคล้าย ๆ เสียงเครื่องเป่าทองเหลือง หาฟังได้จากเอฟเฟคคอรัสจาก Maxon
และในยุค 80 ให้เสียงว้อง ๆ ให้ความรู้สึกเย็นฉ่ำ อย่างใน Boss – Super Chorus
ถ้าคิดจะใช้เอฟเฟคชนิดนี้แล้ว เลือกมันให้ตรงกับแนวของเพื่อน ๆ ด้วยนะ นอกจากนี้ก็ทำความเข้าใจกับปุ่มสำคัญต่าง ๆ บน Chorus สองปุ่ม คือ
Depth และ Rate
ปุ่ม Depth ทำให้เสียงจากเอฟเฟคได้ยินชัดขึ้น
ปุ่ม Rate ยิ่งเพิ่ม ยิ่งให้สัมผัสความรู้สึกวิงเวียน
=======================================
ขอขอบคุณช่อง Howcast และ Roland U.S. บน Youtube
เลิกงงกันได้แล้ว! คอร์ดที่มี “/” เค้าเล่นกันแบบนี้
คอร์ดที่มี / เค้าเล่นกันยังไงน้า
น่าจะเคยเจอกันมาบ้าง อย่างคอร์ด C/B อะไรทำนองนี้
มันจะต้องเล่นคอร์ด C เอ๊ะ หรือว่าเล่น B หรือจัดมันทั้งสองคอร์ดพร้อมๆกัน ?
วันนี้เราจะมาเฉลยให้ฟัง
คอร์ดที่มี / เช่น C/B C/E G/B ทั้งหลายพวกนี้ มีชื่อเรียกว่า Slash Chord ‘คอร์ดสแลช’
ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับ Slash มือกีต้าร์ Guns ‘n Roses ใดๆทั้งสิ้น 😛
ต้องมารู้กันก่อนว่าคอร์ดเกิดจากการเรียงของโน้ตหลาย ๆ ตัวพร้อม ๆ กัน ดังนั้นทุกครั้งที่เราจับคอร์ดจะต้องมี
” โน้ต ที่มีเสียงต่ำที่สุดในคอร์ด หรือก็คือโน้ตที่อยู่ตามสายบน ๆ ของกีต้าร์นั่นเอง เราเรียกว่า ‘โน้ตเบส’ ”
การเขียนว่า C/B อย่างนี้เป็นต้น คือ การบอกว่า จับคอร์ด C โดยให้โน้ตต่ำสุด(โน้ตเบส) เป็นโน้ต B นั่นเอง
การจะจัยคอร์ดประเภทนี้ได้ถูกต้อง จะต้องรู้ว่า โน้ตบนคอกีต้าร์มีอะไรบ้างนั่นเอง ยกตัวอย่าง C/B จะต้องจับ
e–0–
b–1–
g–0–
d–2–
a–2–
E–x–
จะเห็นว่าที่สาย 5 เราจะกดเฟรต 2 แทนที่จะเป็น 3 อย่างในคอร์ด C ทั่ว ๆ ไป
โดยเฟรต 2 สาย 5 คือโน้ต B
มาชมอีกตัวอย่าง คอร์ด C/G
e–0–
b–1–
g–0–
d–2–
a–3–
E–3–
เราเพิ่มโน้ตที่เฟรต 3 สาย 6 เข้าไป ซึ่งเป็นโน้ต G
มาถึงตรงนี้ มือใหม่ อาจจะงง หรือตัดพ้อเอาว่า ‘โอ้ย ก็ฉันจำโน้ตบนคอไม่ได้นี่นา งั้นเลิกเล่นเพลงนี้ไปเลยละกัน คอร์ดยาก…’
โนวววว ในดนตรีเรามีการประนีประนอมเสมอนาจาา ซึ่งก็คือ
เลิกสนใจ โน้ตเบส ไปซะ!
อย่าง C/B หรือ C/G ก็เล่นแค่ C, G/B ก็แค่ G ก็พอ ตรงนี้ก็พอกล้อมแกล้มไปได้
หรือ ถ้าคุณมีวงเล่น
ก็ให้มือเบสเป็นคนกด โน้ตเบส แทน
วันนี้ก็จบไปกับคอร์ด / ซึ่งไม่ได้ยากเลย แต่ต้องรู้จักโน้ตบนคอกีต้าร์เท่านั้นเอง ถ้าใครอยากจะให้เป๊ะ ๆ ก็ลองจำโน้ตบนคอ แล้วกดกันให้ถูกต้องดูกันเนอะ
ขอขอบคุณภาพจาก guitarnoise.com
5 ขั้นตอนทำซาวด์ Psychedelic ด้วย Gibson SG
ดนตรีแนว Psychedelic เป็นแนวดนตรีที่เกิดในช่วงยุค 60 ได้แรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์การใช้สารเสพติดอย่างกัญชา มาตีความให้อยู่ในรูปของประสบการณ์ทางดนตรี เป็นแนวดนตรีที่นักดนตรีสมัยนี้หันกลับมาทำกันอยู่บ่อย ๆ
ซึ่งถ้าอยากจะทำซาวด์อย่างศิลปินดังที่เค้านำซาวด์ไซคะเดลิคกลับมาทำใหม่ ควรมองหาตัวอย่างระดับบรมครูมาศึกษา ซึ่งก็นะ คงหนีไม่พ้น Eric Clapton มือกีต้าร์พระกาฬในช่วงฟอร์มวง Cream ไปไม่ได้
Clapton ในสมัยนั้นถือเป็นแนวหน้าในดนตรีไซคะเดลิคเลยทีเดียวถึงขนาดที่ว่า Gibson SG ของเขาที่ชื่อ ‘The Fool’ กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของดนตรีแนวนี้ไปเลย
เสียง SG ของ Clapton มีชื่อเรียกกันว่า ‘Woman Tone’ หรือ ‘สำเนียงสาว’ ที่แม้จะออกแป๋นๆ แต่ก็มีทึบทึมในตัว เป็นเอกลักษณ์เอามากๆ
เรามาลองดูขั้นตอนการทำเสียงสไตล์นี้ดู
1. ใช้สวิทช์ Pickup ตรงกลาง
2. หมุนปุ่มโทนทั้งสองให้ต่ำสุด
3. Volume ของ Pickup สะพานอยู่ที่ 6-7 ส่วน Pickup คอ เปิดให้สุด
4. ใช้หัวแอมป์ Marshall เปิดโทนทุกตัวสุดหมด
จุดนี้เราจะได้ซาวด์คล้ายๆ Clapton แล้ว เราอาจจะเพิ่มความไซคะเดลิคเข้าไปได้อีก
5. โรยหน้าด้วยเอฟเฟค Tremolo หรือ Reverb ด้วย
ถ้าใครมี SG อยู่แล้วคงได้ซาวด์ออกมาใกล้เคียงเลย แต่ใครจะลองกับกีต้าร์ตัวอื่นก็ไม่ว่ากัน
นี่คงพอจะเป็นไอเดียเล็กๆ ให้เอาไปทดลองกันต่อ เผื่อจะได้ซาวด์ไซคะเดลิคแบบของตัวเองกันบ้าง
ขอขอบคุณเว็บไซต์ Gibson และ Dave Hunter