เงียบเป็นเป่าสาก กับวิธีแก้เสียงจี่

‘ปิ้กอัพ อิเล็กโทรนิคส์ เอฟเฟค และแอมป์ เป็นที่มาเสียงจี่ได้ทั้งนั้น เพราะเครื่องมือพวกนี้รับสัญญานจากอากาศเข้ามาแบบไม่เลือก ก่อเป็นเสียงรบกวนดังจี่ ๆ ขึ้นมา แต่…ปัญหานี้มันแก้กันได้…!’

เสียงจี่สำหรับบางคนถือเป็นเรื่องสาหัสสากรรจ์ แล้วก็มีที่มาหลากหลายเหลือเกิน เราลองมาดูวิธีแก้แบบเป็นราย ๆ ไปกันดีกว่า

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ pickup guitar noise

ถาม เสียงจี่จากปิ้กอัพ แก้ยังไงดี?
ตอบ:

1. ส่วนมากเสียงจี่จะมาจากพวก Single-coiled ดังนั้นเราอาจจะเปลี่ยนปิ้กอัพไปเป็น Humbucking แต่วิธีนี้แลกมากับการเสียคาแรคเตอร์กีต้าร์ตัวเองไป
2. หรือใช้เอฟเฟค Noise Suppresor
3. ติดตั้งปิ้กอัพดัมมี่ (Dummy) ปิ้กอัพเดิมจะประกอบด้วยเสียงสายกีต้าร์กับเสียงรบกวน ในขณะที่ปิ้กอัพดัมมี่จะสร้างแต่เสียงรบกวนที่มีทิศตรงข้ามกับเสียงรบกวนในปิ้กอัพจริง ซึ่งพอใช้ร่วมกันจะหักล้างกันพอดิบพอดี

BOSS NS-2 Noise Suppressor

ถาม แล้วถ้าเป็นเสี่ยงจี่จากอิเล็กโทรนิคส์ในกีต้าร์ล่ะ?
ตอบ:

อิเล็กโทรนิคส์ข้างในกีต้าร์สามารถรับสัญญานรบกวนที่แผ่มาตามอากาศได้ สามารถแก้การรับสัญญานรบกวนด้วยการห่อปิ้กอัพด้วยฟอยล์ที่ต่อสายดิน ซึ่งต้องห่อดี ๆ ถ้าห่อไม่ดีเสียงย่านสูง ๆ จะถูกกลืนหายหมด

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ jack cable guitar

ถาม หากแก้ที่กีต้าร์และเอฟเฟคแล้วไม่หาย
ตอบ :

สายแจ็คเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดเสียงจี่ ลองเปลี่ยนสายแจ็คที่ใช้ดูก่อน หรือเลือกที่หัวรับสัญญาณเป็นขั้วทองแดงจะช่วยให้รับสัญญาณได้ดีขึ้นมาก รวมถึงการที่ช่องเสียบแจ็คหลวมก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดเสียงจี่ได้เช่นกัน ดังนั้นควรเช็คสายแจ็คก่อนใช้งานทุกครั้งด้วย

ถาม เอฟเฟคเสียงแตก จี่ได้ปวดประสาทมาก ทำไง?
ตอบ:

ใช้ทุกเทคนิคที่กล่าวมาข้างต้นได้หมดเลย จัดการเสียงรบกวนทั้งหมดก่อนจะวิ่งเข้าไปที่เอฟเฟค แต่ขอเสริมหน่อยเกี่ยวกับการใช้ Noise Gate เพราะอาจส่งผลกับซาวด์เราได้ เนื่องจาก Gate ทำหน้าที่เหมือนทางเข้าทางด่วนที่ยอมให้เสียงดัง ๆ ลอดผ่านได้อย่างเดียว ซึ่งเราเป็นกำหนดว่าให้ดังเท่าไหร่ถึงจะผ่านไปได้ บางทีเราอาจจะตั้งไว้แล้วตัดเสียงของเราบางส่วนไปด้วย

Carlsbro NoiseGate

ถาม เป็นไปได้ไหมว่าเสียงจี่มาจากแอมป์ จะเช็คยังไง? แก้ยังไง?
ตอบ:

จะเช็คเสียงรบกวนจากแอมป์ ทำตามนี้ ไม่ต้องต่อแจ็คเข้าไปในตัวแอมป์ แล้วลองเปิด volume เอาให้สุด ๆ ถ้าได้ยิน แสดงว่าแอมป์นี่แหละต้นเหตุแห่งความจี่ ลองเปลี่ยนตำแหน่งวาง เช็คแหล่งจ่ายไฟ ถ้ายังไม่หาย ปัญหาอันนี้เป็ยเรื่องปัจจัยภายในของแอมป์แล้ว

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ noiseless effect guitar

ปัญหาจากเสียงจี่มักมาจากปิ้กอัพ single-coiled ไม่ก็ใช้อุปกรณ์อิเล็กโทรนิคส์หรือเอฟเฟคถูก ๆ บางครั้งการแก้ไขอาจจะกินเงินมากกว่าหรือพอ ๆ กับเครื่องดนตรีที่เราซื้อมาด้วยซ้ำ เช่น ซื้อเอฟเฟค Noise suppressor หรือ Gate ดังนั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำใจกันไว้แต่แรก

การซื้อของดี ๆ มาแต่แรก ปัญหาพวกนี้ก็จะเบาบางลงตามไปด้วยเหมือนกัน

==========================================
ขอขอบคุณ premierguitar.com

หยุดฝึกก่อนดีไหม ถ้าคุณมีพฤติกรรมแบบนี้!

‘ผลจากการวิจัย* พบว่า การทำอะไรซ้ำ ๆ ทำให้เราเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้แย่ลง!’

ภาพจาก shutterstock

ภาพจาก shutterstock

ตามที่เค้าวิจัยออกมา อาจจะจริงอยู่ว่าการจะจดจำอะไรสักอย่างหนึ่งย่อมมาจากการที่เจอกับมันซ้ำ ๆ แต่ในขณะเดียวกัน ความสามารถในการจำแนงแจกแจงสิ่งคล้าย ๆ กันดันแย่ลงไปซะเฉย ๆ
นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไม เราควรจะเลิกพฤติกรรมการฝึกที่วนเวียนอยู่กับการทำซ้ำ ๆ ต่อไป อย่าง

1. ทำตัวแบบเทปบันทึกเสียงเจ๊งกะบ๊ง
บางคนพยายามเล่นให้เป๊ะ ด้วยวิธีซ้อมแบบเล่นท่อนเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ที่ tempo ระดับเดิม

2. เข้าโหมดพลขับอัตโนมัติ
หรือบางคนตะแบงเล่นเพลงจนจบเพลง จะผิดจะถูกไม่รู้ แต่ต้องเล่นมันจนจบให้ได้ แต่ไม่ใช่ว่าวิธีนี้จะไม่มีประโยชน์อะไรเอาซะเลย ข้อดีของมันคือ มันทำให้เรามองเห็นภาพรวมชัดเจนขึ้น แต่สิ่งที่ต้องทำหลังจากนั้นคือการค่อย ๆ แกะทีละท่อน และบรรลงเล่นอย่างละเอียดลออ
ถ้าเกิดว่าจมอยู่กับการเล่นมุดหัวจมท้ายไปจนจบ เรียกได้ว่ามีแต่เสียกับเสีย เปลืองเวลาและพลังชีวิตโดยใช่เหตุ

3. เคล้าสองวิธียอดแย่ข้างต้นเข้าด้วยกัน
นี่คืออภิมหาคอมโบประลัย ของการฝึกยอดแย่สองอย่างผสมกัน เล่นแบบมุทะลุไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมจนจบเพลง ซ้ำยังไม่พอเล่นมันซ้ำ ๆ เหมือนบันทึกเทปเสียติดลูป

ผลจากทั้ง 3 ข้อคือ เรียกได้ว่ามีแต่เสียกับเสียกับเสีย, เสียที่หนึ่ง เสียเวลาชีวิต เพราะการฝึกเหล่านี้เป็นการทำซ้ำ ๆ ที่เสี่ยงทำให้อาจเกิดอาการ’ติด’วิธีเล่นผิด ๆ จนแก้ได้ยาก และอาจจะต้องมาเสียเวลาแก้อีก
สอง เสียความมั่นใจ การทำซ้ำ ๆ ลวก ๆ ทำให้เราไม่เข้าใจว่าส่วนยิบส่วนย่อยนั้นมันเล่นเป๊ะ ๆ ยังไงกันแน่ มันทำให้เราไม่กล้าโชว์พาวมาก เสียเซลฟ์ที่สุด
สาม เสียทักษะการเรียนรู้ จากที่จั่วหัวไว้เลย ตามนั้น

และควรทำยังไงล่ะที่นี้?

อีกงานวิจัย** หนึ่งกล่าวว่า ยิ่งเรามีความรู้ที่ ‘กว้าง’ มากเท่าไหร่ ยิ่งจะเป็นเรื่องง่ายในการดึงองค์ความรู้ออกมาจากสิ่งที่พบเจอ

ดังนั้นเราควรจะมี ‘การฝึกอย่างสุขุม’ นี่คือ การเพิ่มความ ‘กว้าง’ ให้กับการฝึก นี่ต่างหาก ไม่ใช่การทำซ้ำ ๆ ซึ่งก็ด้วยการ
– ฝึกอย่างช้า ๆ บรรจง ทำซ้ำ ๆ ให้น้อยที่สุด
– ลงรายละเอียดทีละตัวโน้ต เลือกเฟ้นวิธีที่จะ’บรรยาย’โน้ตแต่ละตัวออกมา กระแทกเกินไป? เบาไป? จะให้โน้ตยาวแค่ไหน?
– พยายามหาวิธีใหม่ ๆ ที่จะพัฒนารายละเอียดแต่ละอย่าง

จะเห็นว่าการฝึกแบบนี้จะเพิ่มความ ‘กว้าง’ ในการบรรยายรายละเอียดลงไปที่แต่ละโน้ต ๆ ไป และเน้นที่ความเป็นตัวเอง ความพอใจในทักษะการยรรยายทางดนตรีของเราเอง

การฝึกที่ทำอะไรซ้ำ ๆ มีแต่บ่อนทำลายความคิดสร้างสรรค์ของเรา ทำให้เรียนรู้สิ่งใหม่ได้แย่ กลับกันการฝึกแบบสุขุม ลงรายละเอียด เลือกสรรบรรจงใส่ด้วยเทคนิคที่กว้าง และใหม่ตลอดเวลา จะสอดรับกับลักษณะการเรียนรู้ที่ผลวิจัยประเมินว่าแล้วว่าดีที่สุด

ลองหันมาฝึกแบบนี้กันดูนะ 😉

==============================================
*Zachariah M. Reagh และ Michael A. Yassa – Repetition strengthens target recognition but impairs similar lure discrimination: evidence for trace competition
**Radboud University Nijmegen – How the brain builds on prior knowledge

ขอขอบคุณ lifehacker.com และ sciencedaily.com

มารู้จักกับ 3 พี่น้องแห่งเอฟเฟค Tremolo

‘เอฟเฟค Tremolo มีอยู่ 3 ประเภท แต่ละประเภทให้เสียงคนละฟีลลิ่งกัน’

ถือเป็นเอฟเฟคที่มีความเก่าสุด ๆ ชนิดหนึ่งเลยทีเดียว มันปรากฏครั้งแรก ๆ ในช่วงยุค 60 ซึ่งมาพร้อมกับฟังก์ชันติดกับแอมป์ ก่อนที่จะถูกบรรจุลงก้อน ๆ อย่างทุกวันมานี้ Tremolo จะให้เสียงแบบกระตุก ๆ เป็นห้วง ๆ ซึ่งให้ฟีลลิ่งแบบเก่า ๆ เพราะมักถูกใช้ในเพลงเก่าบ่อยมาก การจั่วหัวว่าสามพี่น้องคงจะไม่เห็นผิดนัก เพราะทั้งสามตัวมากันคนละปี คลานตามกันมาติด ๆ เราจะมาดูกันว่า Tremolo สามพี่น้อง มีลักษณะต่างกันยังไงบ้าง

BOSS TR-2 TREMOLO

1 Harmonic Tremolo
พี่ใหญ่ ผลิตในปี 1961 มากับแอมป์ Brownface ของ Fender ถือเป็นเอฟเฟคหายาก และอายุสั้น (ถูกเปลี่ยนด้วย Tremolo แบบอื่นไป) เนื่องจากวิธีทำงานที่ยุ่งยาก ด้วยการแบ่งสัญญานเสียงเป็นสองภาค แทรกคลื่นความถี่ต่ำ (LFO) ที่สัญญานแรกซึ่งลูกกรองให้เหลือแต่ย่านเสียงสูง ส่วนอีกสัญญานที่ถูกกรองเหลือย่านต่ำก็แทรกเหมือนกันแต่เป็นคลื่นที่กลับหัวกลับหางจากแบบแรก จากนั้นนำสัญญานสองภาคมารวมกัน ผลที่ได้คือการเน้นย่านเสียงสูง เสียงต่ำ วูบวาบสลับกันไป เป็นเอฟเฟคยำใหญ่ใส่สารพัด เป็นทั้ง Tremolo ก็ไม่ใช่ Vibrato ก็ไม่เชิง Phaser ก็ไม่ชัด

2 Bias Tremolo
น้องรอง ผลิตในปีช่วง 1963 พบในแอมป์หลอด อย่าง Vox ในช่วงแรก ๆ ลูกคลื่นเป็นห้วง ๆ มาจากการปรับกระแสไบแอสกับหลอดสุญญากาศ ซึ่งข้อเสียคือจะทำให้แอมป์อายุสั้น Tremolo นี้ให้คลื่นที่รุ่มรวยนิ่งลึก เป็นเหมือนของเหลวไหลเป็นก้อน ๆ ให้เสียงคล้ายพวกเอฟเฟคตระกูล Uni-vibe
ข้อดีของ Tremolo แบบนี้ ก็คือสัญญานเสียงที่วิ่งตามสายจะไม่ผ่านวงจรใดเลย ๆ และนี่ทำให้ได้เสียงที่เป็นธรรมชาติมาก ๆ

3 Optical Tremolo
น้องคนสุดท้อง ผลิตในช่วง 1965 มากับแอมป์ Blackface ของ Fender เจ้าเก่า เป็นสัญญานเสียงที่ผ่านวงจร Tremolo ที่ข้างในถูกออกแบบมาให้มีตัวรับสัญญานแสง และหลอดไฟที่ถูกตั้งค่าให้ค่อย ๆ สว่างและค่อย ๆ ดับ ตัวรับสัญญานแสงจะตอบรับกับความสว่างของหลอดไฟ และทำให้สัญญานเสียงดังขึ้นหรือลดลงตามความสว่างมากน้อย
ค่อนข้างจะให้เสียงที่หยาบกว่าและไม่ลุ่มลึกเท่ากับพี่ทั้งสองข้างบน แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของ Tremolo แบบ Square Wave

อยากได้สไตล์วินเทจอาจจะต้องมองหาแบบ Harmonic หรืออยากได้แบบสัญญานราบเรียบคงต้อง Bias แต่ถ้าสมัยใหม่ กระตุกหนัก ๆ แบบเพลง Dance แบบ Optical คือคำตอบของเรา ๆ เลย
ถ้ากำลังมองหาเอฟเฟค Tremolo อยู่ ก็หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ จะได้เลือกซาวด์ที่เหมาะเจาะกับเรา ๆ ได้นะ

=======================================
ขอขอบคุณ carlscustomamps.com, strymon.net และ premierguitar.com

9 แอปส์เด็ด! สำหรับฝึกเล่นไวโอลินโดยเฉพาะ

หาคนสอนเหรอ หรือหาคู่มือ น่าเบื่อเกินไปหรือเปล่า ลองพึ่งเทคโนโลยีหน่อยไหม วันนี้เราขอเสนอแอปส์เด็ด ๆ 9 แอปส์ ทั้งฟรีและไม่ฟรี ที่จะมาช่วยเพื่อน ๆ หัดไวโอลินกัน

หัดเล่นไวโอลินผ่านแอปส์

ถ้าบน iPhone
-Classical Violinist (ฟรี)
เป็นการเรียนการสอนผ่านเกมสนุก โดยจะมีเพลงคลาสสิคต่าง ๆ มาให้เราทดสอบ โดยการกดตำแหน่งฟิงเกอร์บอร์ดลงไปบนจอ ช่วยฝึกจำตำแหน่งโน้ตได้เป็นอย่างดี

-Learn Violin by Inside.com Inc (เสียเงิน)
ถือว่าดีมาก ๆ สำหรับมือใหม่ มีการสอนทักษะการตั้งสาย และใส่สาย ลงรายละเอียดลึกเรื่องท่าจับถือไวโอลินที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ติดตัวแบบผิด ๆ ไป ข้อมูลเบื้องต้นที่ต้องรู้ รวมถึงวิธีการดูแลไวโอลินอีกด้วย

-nTune: Violin Free (ฟรีตามชื่อ)
ข้อดีคือให้เสียงที่บันทึกเสียงไวโอลินมาจริง ๆ เป็นแอปส์ที่ผสานการเรียนรู้และการจูนเสียงไวโอลินเข้าด้วยกัน โดยให้จูนผ่านการฟังเสียงโน้ตบนสายแต่ละสาย มีเสียงทั้งแบบดีดสายและสีสาย

-Violin Flash Cards (เสียเงิน)
ตอบสนองต่อผู้ใช้ด้วยภาพบนการ์ด ช่วยกระตุ้นการจดจำตำแหน่งกดโน้ต การ์ดด้านหน้าแสดงชื่อโน้ต เมื่อพลิกกลับเพื่อดูเฉลย จะแสดงตำแหน่งกดบนฟิงเกอร์บอร์ดมาให้ มีตารางอ้างอิงเสียงโน้ตพร้อมตำแหน่งกด เอาไว้หัดจำหัดฟัง

หรือบน Android
-Violin Notes by BrainMelody (เสียเงิน)
ใช้ฝึกจำตำแหน่งโน้ตบนคอไวโอลิน มีภาพตำแหน่งโน้ตบนคอและบนตารางห้าเส้น มีเสียงโน้ตให้ฟัง ช่วยให้ผู้เรียนจำตำแหน่งได้เร็วและง่าย

-Violin Lesson Tutor from AMS Music (ฟรี)
เรียนรู้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน พร้อมคลิปการสอนที่ลิงค์กับ Youtube สอนเทคนิคต่าง ๆ มีโน้ตดนตรีให้ปรินท์มาเล่นอีกด้วย

-Violin by Egert (ฟรี)
เสียที่ว่าเสียงที่ออกมาจากแอปส์ฟังดูเป็นเสียงสังเคราะห์ไปหน่อย แต่ก็มีระบบเด็ด ๆ ไม่แพ้ Violin Notes ที่ต้องเสียเงินเลย ตำแหน่งจับกดโน้ตแสดงได้ละเอียด ดูง่าย

-Music Tutor Sight Read by VirtualCode.es (เสียเงิน แต่มีเวอร์ชันฟรีด้วย)
สำหรับผู้เรียนที่สนใจการฝึกอ่านเขียนโน้ต ผ่านแบบฝึกหัดที่กว้างตั้งแต่โน้ตช่วง Treble ยัน Bass

-Smart Chords and Tools by Schule Martin (ฟรี)
แอปส์แสดงคอร์ดที่สามารถเล่นได้บนเครื่องดนตรีเครื่องสายแทบทุกชนิด รวมถึงไวโอลินด้วย มีข้อมูลสเกล และตำแหน่งจับคอร์ดบนคอ จูนเนอร์และเมโทรโนม แบบฝึกหัดแยกเสียงโน้ต รวมถึงฟีเจอร์อื่น ๆ อีกมาก จัดระดับผู้ใช้เป็นเลเวลตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงผู้เล่นที่มีประสบการณ์พอตัว

=======================================
ขอขอบคุณ connollymusic.com

7 ข้อที่ควรรู้เมื่อเลือกเล่นไวโอลิน (7) “มีคนที่เล่นเก่งกว่าเรา อายุน้อยกว่าเรา”

วันนี้เป็นตอนสุดท้ายในชุด ‘7 ข้อที่ควรรู้เมื่อเลือกเล่นไวโอลิน’ สิ่งที่อยากจะพูดในวันนี้ อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเทคนิคอะไรเลย แต่เป็นเรื่องความรู้สึกล้วนๆ เมื่อเราเข้ามาสู่โลกแห่งไวโอลิน เราจะได้พบนักไวโอลินมากมายหลายคน และหลายๆคนนั้นต่างก็เก่งกว่าเราทั้งนั้น บางคนอาจจะอายุน้อยมาก บางคนอาจจะพัฒนาฝีมือได้ไวกว่าเรา

violin-1106079_1920

มันอาจจะเป็นเรื่องน่าท้อใจ กับการต้องเอาตัวไปเปรียบเทียบกับคนในชุมชนที่มีคนเก่งกว่าเรามากมาย

แต่!

ให้รู้ไว้ว่านี่เป็นธรรมดาสากลในโลกของดนตรี ยกตัวอย่าง Paul Gilbert มือกีต้าร์ร็อคชื่อดัง ยังต้องทึ่งเลยเมื่อไปเจอเด็กสาวอายุแค่ 8 ขวบ เล่นเพลงของเขาเอง ที่มีความยากในระดับสูง เรียกได้ว่าวัดรอยเท้ากันเลยทีเดียว

ถึงอย่างนั้น มันก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตดนตรีของ Gilbert จบลงไปจริงไหม 🙂 เหมือนกัน การเล่นไวโอลินหรือจะเครื่องดนตรีชนิดไหนๆของเพื่อนๆ ก็ยังไม่จบลง

มันไม่ใช้การต่อสู้ฆ่าฟันนี่นา ดนตรีน่ะ

เป้าหมายที่เหมือนกันคือการแสดงออกผ่านเสียงดนตรีต่างหาก เนอะว่าไหม

หวังว่าบทความในชุดนี้ จะเพิ่มความเข้าใจให้นักไวโอลินหน้าใหม่ๆได้ (รวมถึงเพื่อนๆคนอื่นด้วยที่ไม่ได้เล่นไวโอลินก็ตาม) วันนี้ขอตัวลาไปก่อน แล้วพบกับบทความชุดใหม่

ขอขอบคุณเว็บไซต์ Artistworks

7 ข้อที่ควรรู้เมื่อเลือกเล่นไวโอลิน (6) “ยางสนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน”

สำหรับคนที่ไม่เคยเล่นไวโอลิน อาจจะสงสัยว่าก้อนเหลืองๆที่นักเล่นไวโอลินถูกับคันชักมันคืออะไร เอาไว้ทำอะไร กับเจ้าก้อนเหลืองๆเรียกว่า”ยางสน”

ยางสน rosin

ยางสน rosin

สาเหตุที่มันความจำเป็นนั่นเป็นเพราะ…

หางม้าเปล่าๆบนคันชัก หนืดไม่พอที่จะสีสายไวโอลินให้เกิดเสียงได้ ยางสนคือสิ่งที่ถูกใช้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ก่อนจะเล่นเราจำเป็นต้องถูยางสนลงบนหางม้า ทำให้หางม้ามีความเสียดทานพอจะสีจนเกิดเสียงได้ แต่ไม่ใช่แค่ละเลงถูยางสนลงไป เราจำเป็นต้องเข้าใจกันก่อนว่ายางสนแต่ละชนิดก็ไม่เหมือนกัน

ขั้นแรกเราต้องเลือกยางสนโดยดูจากสี สีของยางสนจะบ่งบอกความแตกต่าง สีเข้มจะเหนียวน้อยกว่า สีอ่อนเหนียวกว่า ทั้งนี้ความเหนียวมากเหนียวน้อยของยางสนส่งผลต่อเสียงของโวโอลินด้วย ตรงนี้เป็นเรื่องของรสนิยมล้วนๆ ความเหนียวที่มากอาจทำให้เสียงออกมาสากๆ ในขณะที่น้อยไปอาจจะได้เสียงไม่ถึงที่เราต้องการ

เมื่อเลือกยางสนที่เข้ากับรสนิยมแล้ว ขั้นต่อไปเป็นขั้นแกะกล่อง ยางสนในทีแรกที่เปิดกล่องออกมา ไม่สามารถใช้ถูได้เลยเพราะมันไม่ติดกับหางม้า ควรทำให้ผิวหน้าของยางสนมีความหยาบก่อน เช่นใช้มีดกรีดหน้ายางสนเป็นรอยรูปตาราง เป็นต้น

การถูยางสนต้องระมัดระวังไม่ให้ยางสนไปโดนแถบเหล็ก ด้วยการให้นิ้วโป้งอยู่ตรงแถบเหล็กนั้น แล้วเริ่มถูเป็นช่วงๆ จนทั่วทั้งหางม้า สังเกตว่าจะมีผงขาวๆตามหางม้า สำหรับหางม้าที่ถูด้วยยางสนแล้ว ห้ามเอามือไปโดนเด็ดขาด เพราะความมันจากมือของเราทำให้ไปติดกับยางสนบนหางม้าทำให้สีกับสายได้ไม่ดี เสียงแย่ได้

เมื่อรู้จักกับยางสนและรู้ว่าต้องใช้ยังไงกับไวโอลินของเราแล้ว คำถามต่อไปอาจจะเป็นเรื่องที่ว่าควรถูบ่อยแค่ไหน เรื่องความถี่ในการถูยางสนนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว บางคนก็ทำทุกวันที่เล่น แต่ที่แน่ๆเลยก็คือถ้าเกิดคุณภาพเสียงไวโอลินตกเมื่อไร ควรนึกถึงการถูยางสนเป็นอันดับแรก

ขอขอบคุณเว็บไซต์ Violinstudent และ Youtube Channel ของ Andrew Mercer

7 ข้อที่ควรรู้เมื่อเลือกเล่นไวโอลิน (5) “หัดเทคนิคยากๆ เอาไว้แต่เนิ่นๆ”

เล่นไวโอลินตอนแรกว่ายากแล้ว พอไปต่อสูงขึ้นก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ไลน์เพลงไวโอลินก็ยิ่งมีความซับซ้อนขึ้น การฝึกเทคนิคยากเอาไว้แต่เนิ่นๆ เป็นการเตรียมตัวที่ดีเยี่ยม เทคนิคที่ควรฝึกตั้งแต่เนิ่นๆ สำหรับวันนี้ทางเราคัดมา 2 เทคนิค

Old violin lying on the sheet of music, music concept

Old violin lying on the sheet of music, music concept

> Double Stops
เป็นเทคนิคที่ถูกใช้บ่อยเป็นประจำ เพราะว่ามันเป็นเอกลักษณ์เด่นของดนตรีประเภทเครื่องสาย ที่สามารถเล่นโน้ตสองตัวพร้อมๆกันได้ นักประพันธ์จึงอาศัยจุดนี้จับมาเล่นในงานประพันธ์อยู่บ่อยๆ การทำ Double Stops คือการสีด้วยคันชักในองศาที่สามารถสีสองสายได้พร้อมๆกัน ส่วนมากมือใหม่มักจะจบที่โน้ตออกมาทีละตัว

breval_-_sonata_cello_double_stops

> Spiccato
เป็นเทคนิคที่อาจจะไม่ได้ใช้เลยในเพลงเริ่มเล่น แต่ถ้าทำได้แต่แรกๆ นี่จะทำให้เพื่อนๆ เป็นเสือติดปีกเวลาเล่นเพลงยากๆในภายหน้าแน่นอน เทคนิคนี้คือการที่เมื่อหางม้าสัมผัสกับสายไวโอลินแล้วในช่วงสั้นๆนั้น ให้ยกคันชักออก คันชักควรจะต้องมิทิศทางขนานไปกับสะพานสาย

spiccato_muzyka

สำหรับบางคนที่มองไม่เห็นภาพ ลองดูจากทางยูทูปที่สอนเทคนิคเหล่านี้ดูก็ได้ ถ้ารู้แล้วว่าทำยังไง ก็อย่ารอช้า รีบๆฝึกเตรียมไว้ก่อนเลย เพลงยากครั้งหน้าๆ ก็สบายๆเราแล้ว

ขอขอบคุณเว็บไซต์ Youtube ช่อง Fiddlerman และ Danmansmusicschool

7 ข้อที่ควรรู้เมื่อเลือกเล่นไวโอลิน (4) “ไวโอลินต้องได้รับการเอาใจใส่”

ใครๆก็อยากให้เครื่องดนตรีอยู่กับเราไปนานๆ สำหรับไวโอลิน ต้องเอาใจใส่ทั้งตัวเครื่องดนตรี และคันชัก

violin-1061240_960_720

สำหรับตัวไวโอลิน ความชื้นและอุณหภูมิเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้ไม้บนตัวไวโอลินขยายหรือหดตัวส่งผลต่อคุณภาพเสียงได้ ไม่ควรให้ไวโอลินสัมผัสอากาศชื้น เพราะจะทำให้ไม้ปริแตกได้ การตากสภาพอากาศร้อนจัดเย็นจัดเป็นสิ่งต้องห้าม ห้ามทิ้งไว้ในรถเด็ดขาด!

ทำความสะอาดด้วยการเช็ดฝุ่นและเศษยางสนบริเวณสายออก ยางสนที่เกาะค้างตามสายทำให้สายเสียงแย่ลงไวขึ้น

สำหรับคันชัก ส่วนที่เป็นไม้จะถูกดึงให้โค้งลงเล็กน้อยในขณะที่ใช้เล่น เมื่อเล่นเสร็จ ควรปรับให้กลับมาตรงเช่นเดิม การทำความสะอาดคันชักก็มีความสำคัญเช่นกันโดยเฉพาะที่หางม้า ควรเช็ดเอายางสนออกเสมอ การเปลี่ยนหางม้าก็มีความสำคัญมาก หางม้าที่อยู่ในที่แห้งจะหดลง และยืดขึ้นสำหรับในที่ชื้น ทำให้คุณภาพเปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้นควรเปลี่ยนทุกๆ 3 หรือ 6 เดือน ทั้งนี้ความถี่บ่อยในการเปลี่ยนขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นผู้เล่นประเภทไหน สำหรับนักไวโอลินสมัครเล่นการเปลี่ยนอาจไม่บ่อยเท่าผู้ที่เล่นเป็นอาชีพจริงจัง

จะเห็นว่าการดูแลไวโอลินไม่ได้ยากเย็นเลย เพียงแค่หมั่นเช็ดทำความสะอาด และเก็บให้ถูกที่เท่านั้นเอง ควรทำให้เป็นกิจจะลักษณะ ไวโอลินจะได้อยู่กับเราไปนานๆ

ขอขอบคุณเว็บไซต์ Violinstudent และ Thesoundpost

7 ข้อที่ควรรู้เมื่อเลือกเล่นไวโอลิน (3) “เรียนรู้ที่จะเล่นแบบไม่มีเสียง”

มันอาจจะฟังดูย้อนแย้งไปหน่อย ปกติเล่นดนตรีก็ควรจะมีเสียงดนตรี แต่เราควรจะต้องฝึกเล่นดนตรีโดยไม่มีเสียงกับไวโอลิน!

Image courtesy of photostock at FreeDigitalPhotos.net

Image courtesy of photostock at FreeDigitalPhotos.net

โอเค ปัญหาอย่างแรกของไวโอลินคือเสียงดัง สำหรับผู้เริ่มเล่นด้วยแล้วคงไม่มีใครอยากผลิตมลพิษทางเสียงรบกวนเพื่อนบ้านแน่ๆ และอีกปัญหาคือปัญหาสุขภาพจากการเล่นไวโอลินที่อาจทำให้หูมีปัญหาเอาได้ ด้วยปัญหาสองข้อนี้เราจึงควรหันมาฝึกไวโอลินแบบไม่มีเสียงกันบ้าง นอกจากนี้ยังมีประโยชน์แฝงอีกด้วย

>> วิธีแรก แก้ปัญหาด้วย “มิ้ว (Mute)” อุปกรณ์ที่ติดเข้ากับไวโอลินเพื่อลดทอนเสียงดัง มีการฝึกที่เรียกว่า Heavy Mute ที่คาดมิ้วเข้ากับตัวไวโอลินแต่เล่นให้หนักขึ้นเพื่อให้ได้ยินเสียงออกมาเบาๆ เทคนิคนี้จะทำให้ผู้เล่นมาโฟกัสกับน้ำเสียงสำเนียงของการเล่น มากกว่าความดังหรือคุณภาพเสียงของตัวไวโอลิน และมองเห็นรายละเอียดของการเล่นมากขึ้น

การมิ้วอาจจะดูน่าสนใจ แต่ก็จำเป็นต้องใช้เงินกับมัน ซึ่งก็มีตัวเลือกที่ไม่ต้องเสียสักบาทด้วยการ…

>> ฝึกเล่นไวโอลินในจินตนาการ (Visualization)!

การนึกภาพว่าเรากำลังจับและเล่นไวโอลินอย่างจริงจัง ถือเป็นการซ้อมที่ส่งผลต่อสมองโดยตรง นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการนึกภาพตามว่าเรากำลังทำกิจกรรมหนึ่งๆอยู่ สมองส่วนที่ใช้ขณะที่ทำกิจกรรมนั้นจริงๆ ก็จะถูกใช้ด้วยเช่นกัน ช่วยส่งเสริมความแม่นยำเวลาได้กลับมาเล่นจริงๆ เทคนิคนี้ได้รับความเชื่อถือและถูกใช้ในวงการแพทย์เพื่อฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองซึ่งควบคุมกล้ามเนื้อขาแขนไม่ได้ให้กลับมาควบคุมได้อีกด้วย

จะเห็นว่านอกจากจะแก้ปัญหาความดัง หรือสุขภาพแล้ว เทคนิคเหล่านี้ยังมีข้อดีที่ทำให้การเล่นของเราดีขึ้นได้ แนะนำว่าลองหันมาใช้เทคนิคเล่นไวโอลินแบบไม่มีเสียงกันดูบ้าง อาจจะทำให้เก่งเร็วขึ้นเยอะเลย

ขอขอบคุณ Violinschool.org

7 ข้อที่ควรรู้เมื่อเลือกเล่นไวโอลิน (2) “เสียงไวโอลินฟังแสบบาดหูเหรอ? ไม่เสมอไปหรอก”

ไวโอลินเราเสียงแหลมบาดหูไป กลัวใจคนฟังจัง…

Image courtesy of imagerymajestic at FreeDigitalPhotos.net

Image courtesy of imagerymajestic at FreeDigitalPhotos.net

เสียงไวโอลินอาจจะฟังแล้วบาดหูเอามากๆ เมื่อเปลี่ยนสายแรกๆ การปล่อยให้สายเข้าที่จะลดอาการนี้ได้ หรือถ้ายังฟังแล้วบาดหูอีก นั่นเป็นเพราะว่าสายของคุณเด่นในย่านเสียงสูง ดังนั้นควรสอบถามทางร้านให้แนะนำสายที่ให้เสียงย่านทุ้มต่ำหน่อยก็ได้

นอกเหนือจากที่พูดมาก่อนหน้า
ทำยังไง๊ยังไง ไวโอลินก็ยังฟังแหลมบาดหูอยู่ยังงั้น
ก็อยากบอกให้รู้ไว้ว่าขนาดไวโอลินชั้นเลิศที่นักเล่นมืออาชีพใช้เอง บางทีก็ฟังเสียงดังบาดหูเกินไปเหมือนกัน
โห ขนาดของดีๆ ยังฟังแหลมบาดหู ของบ้านๆอย่างเราๆจะเหลือหรือนี่

แต่รู้ไว้ที่มันแหลมขนาดนั้น นั่นเป็นเพราะว่ามันถูกเล่นใกล้หูเกินไปต่างหาก! ลองนึกภาพการจับไวโอลิน เสียงของไวโอลินออกมาจากช่องรูปตัว f และในขณะที่เราถือมันเล่นอยู่นั้น มันก็อยู่ใกล้หูของเราเกินไป
ไม่แปลกที่ได้ยินเสียงแหลมๆในระดับใกล้ๆจะรู้สึกบาดหู และนี่ทำให้นักไวโอลินส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยินไปเลย เพราะใช้เวลาอยู่กับเสียงแหลมดังๆใกล้ๆเป็นระยะเวลานาน

แต่ฟังเสียงแหลมบาดหูแบบนี้ ผู้ฟังคนอื่นฟังต้องรู้สึกไม่ดีแน่ๆ ทำยังไงดี?

คำตอบคือ…ไม่ต้องทำอะไรเลย!

สิ่งหนึ่งที่ควรรู้ไว้ก็คือความดังบาดหูจะถูกอากาศดูดซับ ขณะเสียงเคลื่อนตัวผ่านไปยังผู้ฟัง โดยเฉพาะคอนเสิร์ตฮอลล์ที่ถูกออกแบบมาอย่างดี ดังนั้นแล้วเสียงข่วนแสบบาดหูของคุณ จะกลายเป็นเสียงสวรรค์สำหรับผู้ฟังไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม เราอาจจะไม่ต้องไปกังวลว่าความแหลมบาดหูของไวโอลินทำให้คนฟังไม่พอใจ มากเท่ากับที่เรา’ต้องดูแลตัวเราเอง’ การเล่นไวโอลินนานๆจะทำให้หูเรามีปัญหาได้ ยิ่งเรามีความจำเป็นที่จะต้องเล่นบ่อยๆ ก็ควรมีที่อุดหูและขอคำแนะนำจากแพทย์อยู่เสมอ
ขอขอบคุณเว็บไซต์ Artistworks และ Violinschool

6 ข้อผิดพลาด ของมือไวโอลินหน้าใหม่

มือใหม่หัดไวโอลิน มักจะทำข้อผิดพลาดกันอยู่เสมอ ข้อผิดพลาดพวกนี้หากไม่ปรับแก้ไขละก็จะติดตัวไปจนแก้ได้ยาก และทำให้เล่นยังไงก็ดูไม่โปรไม่เก่งซะที

music-726962_960_720
เราลองมาดูกันดีกว่าว่า 6 ข้อผิดพลาดที่ต้องรีบแก้ไขมีอะไรบ้าง

1. ทำข้อมือไม่มีแรง
การทำข้อมือซ้ายอ่อนพับ ถือว่าเป็นการผิดท่าจับไวโอลิน ทำให้จับโน้ตได้ไม่สะดวก และต้องออกแรงฝืนมาก ๆ ด้วย พยายามระลึกตัว จับไวโอลินกันให้ถูกต้องอยู่เสมอจะดีกว่า

2. กระแทกคันชัก
รู้สึกว่าโน้ต ฟังดูกระชาก ๆ ฟังไม่สม่ำเสมอรึเปล่า นั่นต้องแก้ที่สิธีการสีของเพื่อน ๆ แล้วล่ะ บางทีเราอาจจะเผลอ “กระแทก” คันชักลงไปบนสาย วิธีที่ถูกต้องคือค่อย ๆ แตะคันชักลงไปแล้วค่อย ๆ สีโดยให้หางม้าสัมผัสกับสายเท่า ๆ กัน

3. ปล่อยสายเพี้ยน
ถือเป็นเรื่องร้ายแรงมากเลยสำหรับมือไวโอลิน ที่จะต้องมีทักษะการแยกโน้ตที่ดี เพราะว่าเราไม่มีปุ่มกดโน้ตชัด ๆ อย่างเปียโน การปล่อยให้สายเพี้ยนอยู่อย่างนั้น จะทำให้เราจำโน้ตเพี้ยน ๆ ไปเรื่อย ๆ ซึ่งไม่ดีเอามาก ๆ เลย

4. หอไหล่
เข้าใจว่าถ้าเล่นไปสักพักจะรู้สึกเหมือยล้าก็ไม่แปลก ถ้ารู้สึกอย่างนั้น แนะนำว่าให้พักก่อนจะดีกว่า อย่าปล่อยให้ตัวเองทำท่าเล่นไวโอลินแบบผิด ๆ เดี๋ยวจะจำติดไปเพราะความชิน

5. อาการนิ้วชี้เจ้าปัญหา
เพราะนิ้วชี้เหมือนเป็นจุดตั้งต้นของการวางมือ ถ้าจับโน้ตผิดตั้งแต่นิ้วชี้ จะทำให้นิ้วอื่น ๆ กดผิดตาม ๆ กันไปหมด

6. ถูยางสนขาด ๆ เกิน ๆ
ปริมาณยางสนถ้าน้อยเกินไปจะทำให้ไวโอลินฟังดูเหมือนเสียงหวีดผิวปากเบา ๆ และถ้ามากเกินไปเสียงจะฟังดูหยาบกระด้าง พอดี ๆ ทางสายกลางดีที่สุด

ถ้าเลิกทำพฤติกรรมเหล่านี้กันได้ รับรองว่าฝีมือย่อมพัฒนาขึ้นด้วยแน่นอน

===============================
ขอขอบคุณ takelessons.com

ส่วนผสมในยางสน ปัจจัยลับทางเสียงดนตรีของไวโอลิน

เพราะหลากหลายทั้งสี และองค์ประกอบ หมดนี่ส่งผลต่อเสียงที่ให้กับไวโอลิน ก่อนจะเลือกซื้อ’ยางสน’ จำเป็นต้องทำความเข้าใจ’ยางสน’กันให้ถึงพริกถึงขิงซะหน่อย วันนี้เรามาดูกันว่ายางสนที่ผสมองค์ประกอบแบบไหน จะให้เสียงแบบใดบ้าง

1. ผสมทอง
ให้เสียงอบอุ่น ชัด ช่วยลดเสียงบาดหยาบของสายได้ดี เหมาะกับมือไวโอลินเดี่ยว ที่ต้องการโน้ตที่ชัดใส

2. ผสมเงิน
ให้เสียงที่กระจ่างใส แต่มีความหนักแน่น เหมาะกับการเล่นช่วงต้นคอเป็นอย่างยิ่ง

3. ผสมตะกั่ว-เงิน
มีความนิ่ม และไม่เหนียวเกินไป ให้ย่านเสียงที่เน้นโทนอบอุ่น โน้ตชัดเจน ให้ความรู้สึกสดใส

4. ผสมทองแดง
ให้เสียงที่อบอุ่น นิ่มนวล และยังทำให้เล่นได้ง่ายขึ้น เหมาะกับมือใหม่มาก ๆ

ยางสน มีชื่อหรู ๆ ว่า ‘โคโลโฟนี่’ เดิมเป็นของขึ้นชื่อชั้นเลิศจากเมืองโบราณนาม ‘โคโลโฟน’ แห่งอาณาจักรลิเดีย บนเอเชียไมเนอร์ตะวันตกตามแผนที่ อันเป็นแหล่งผลิตยางสนชั้นเลิศ เพื่อการแพทย์ และพิธีกรรมเวทย์มนตร์

ยางสน kaplan art rosin

================================================
ขอขอบคุณ stringsmagazine.com