7 ข้อที่ควรรู้เมื่อเลือกเล่นไวโอลิน (3) “เรียนรู้ที่จะเล่นแบบไม่มีเสียง”
มันอาจจะฟังดูย้อนแย้งไปหน่อย ปกติเล่นดนตรีก็ควรจะมีเสียงดนตรี แต่เราควรจะต้องฝึกเล่นดนตรีโดยไม่มีเสียงกับไวโอลิน!
โอเค ปัญหาอย่างแรกของไวโอลินคือเสียงดัง สำหรับผู้เริ่มเล่นด้วยแล้วคงไม่มีใครอยากผลิตมลพิษทางเสียงรบกวนเพื่อนบ้านแน่ๆ และอีกปัญหาคือปัญหาสุขภาพจากการเล่นไวโอลินที่อาจทำให้หูมีปัญหาเอาได้ ด้วยปัญหาสองข้อนี้เราจึงควรหันมาฝึกไวโอลินแบบไม่มีเสียงกันบ้าง นอกจากนี้ยังมีประโยชน์แฝงอีกด้วย
>> วิธีแรก แก้ปัญหาด้วย “มิ้ว (Mute)” อุปกรณ์ที่ติดเข้ากับไวโอลินเพื่อลดทอนเสียงดัง มีการฝึกที่เรียกว่า Heavy Mute ที่คาดมิ้วเข้ากับตัวไวโอลินแต่เล่นให้หนักขึ้นเพื่อให้ได้ยินเสียงออกมาเบาๆ เทคนิคนี้จะทำให้ผู้เล่นมาโฟกัสกับน้ำเสียงสำเนียงของการเล่น มากกว่าความดังหรือคุณภาพเสียงของตัวไวโอลิน และมองเห็นรายละเอียดของการเล่นมากขึ้น
การมิ้วอาจจะดูน่าสนใจ แต่ก็จำเป็นต้องใช้เงินกับมัน ซึ่งก็มีตัวเลือกที่ไม่ต้องเสียสักบาทด้วยการ…
>> ฝึกเล่นไวโอลินในจินตนาการ (Visualization)!
การนึกภาพว่าเรากำลังจับและเล่นไวโอลินอย่างจริงจัง ถือเป็นการซ้อมที่ส่งผลต่อสมองโดยตรง นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการนึกภาพตามว่าเรากำลังทำกิจกรรมหนึ่งๆอยู่ สมองส่วนที่ใช้ขณะที่ทำกิจกรรมนั้นจริงๆ ก็จะถูกใช้ด้วยเช่นกัน ช่วยส่งเสริมความแม่นยำเวลาได้กลับมาเล่นจริงๆ เทคนิคนี้ได้รับความเชื่อถือและถูกใช้ในวงการแพทย์เพื่อฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองซึ่งควบคุมกล้ามเนื้อขาแขนไม่ได้ให้กลับมาควบคุมได้อีกด้วย
จะเห็นว่านอกจากจะแก้ปัญหาความดัง หรือสุขภาพแล้ว เทคนิคเหล่านี้ยังมีข้อดีที่ทำให้การเล่นของเราดีขึ้นได้ แนะนำว่าลองหันมาใช้เทคนิคเล่นไวโอลินแบบไม่มีเสียงกันดูบ้าง อาจจะทำให้เก่งเร็วขึ้นเยอะเลย
ขอขอบคุณ Violinschool.org