Monthly Archives: พฤศจิกายน 2017
10 เพลงสุดดังจากมหกรรมกีฬาระดับโลก
We are The Champion – Queen (วี อาร์ เดอะ แชมเปี้ยน – ควีน)
เพลงอมตะที่เปิดในการฉลองแชมป์แทบทุกเวที ของวง Queen ตำนานร็อคแห่งเกาะอังกฤษ อยู่ในอัลบั้ม News of the World ออกมาเมื่อปี 1977 แต่งโดยปลายปากกาของ เฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี่ นักร้องนำผู้ล่วงลับของวง แม้ว่าตัวเพลงจะถูกเปิดในการเฉลิมฉลองแชมเปี้ยนส์มาอย่างยาวนาน แต่กลับเพิ่งถูกบรรจุเป็นเพลงประจำมหกรรมกีฬาโลกอย่างเป็นทางการในฟุตบอลโลกครั้งที่ 15 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1994 โดยเป็นเพลงโปรโมทต่อจากเพลง Gloryland แต่ด้วยความดังของเพลงซึ่งคนรู้จักอยู่ก่อนหน้านี้ ทำให้กระแสเพลง We are The Champions กลบเพลงหลักอย่าง Gloryland ไปได้พอสมควร และยังคงความอมตะมาจนถึงปัจจุบัน
One Moment in Time – Whitney Houston (วัน โมเม้น อิน ทาร์ม – วิสนี่ย์ ฮิวส์ตัน)
เพลงประกอบการแข่งขันกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ โอลิมปิค ปี 1988 ณ ประเทศเกาหลีใต้ จากเสียงร้องของดีว่าหญิงระดับตำนานอย่าง วิทนี่ย์ ฮิวส์ตัน แต่เดิมนั้นได้มีการคาดหมายให้ เอลวิส เพรสลีย์ ศิลปินร็อคแอนด์โรลเบอร์ 1 ของโลกเป็นผู้ร้องเพลงเปิด แต่เนื่องจากเอลวิสเสียชีวิตทำให้ Albert Hammond (อัลเบิร์ต แฮมมอนด์) ต้องแต่งเพลงนี้โดยจินตนาการว่า เอลวิส กำลังร้องเพลงในพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิคแทน ความหมายของเพลงเป็นการเล่าชีวิตของราชาร็อคแอนด์โรลซึ่งวิทนี่ย์ถ่ายทอดออกมาได้อย่างดีเยี่ยม ปัจจุบันก็เป็นหนึ่งในเพลงยอดนิยมที่พบในเวทีประกวดบ่อยครั้ง
The Power of the Dream – Celine Dion (เดอะ พาวเวอร์ ออฟ เดอะ ดรีม – ซีลีน ดีออน)
เพลงเปิดพิธีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ปี 1996 ณ กรุงแอตแลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้ผู้แต่งเนื้อร้องถึง 3 คนคือ David Foster (เดวิด ฟอสเตอร์), Linda Thompson (ลินดา ธอมพ์สัน) และ Babyface (เบบี้เฟซ) โดยให้นักร้องสาวเสียงดี Celine Dion เป็นผู้ขับร้องต่อหน้าคนดูนับแสนในพิธีเปิด บทเพลงนี้ทำให้เธอเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นจนต่อยอดมาเป็นผู้ร้องเพลง My Heart Will Go On อันแสนโด่งดังในปีถัดมา นอกจากบทเพลงจะเข้าไปอยู่ในใจคนทั้งโลกแล้ว โอลิมปิคครั้งนี้ยังอยู่ในใจของคนไทยทุกคนเมื่อ สมรักษ์ คำสิงห์ คว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ ส่งธงไตรรงค์ขึ้นอยู่ยอดเสาเป็นครั้งแรกได้สำเร็จ
La Copa de la Vida (The Cup of Life) – Ricky Martin (ลา โคปา เดอ ลา วีด้า – ริคกี้ มาร์ติน)
เพลงประจำการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1998 ณ ประเทศฝรั่งเศส หรือที่หลายคนเรียกชื่อกันติดปากในตอนนั้นว่า “ฟร๊องซ์ 98” ปีนี้ค่อนข้างพลิกโผเล็กน้อยเมื่อเลือกเอา ริคกี้ มาร์ติน ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้รับความนิยมในวงกว้างเท่าไหร่นักเป็นผู้ขับร้อง และเวอร์ชั่นแรกยังทำเป็นภาษาเสปนซึ่งสร้างความงุนงงให้กับคนทั่วโลกเนื่องจากควรใช้ภาษาเจ้าภาพอย่างฝรั่งเศสมากกว่า ก่อนจะมาแปลงเนื้อเป็นภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลกว่าในภายหลัง อย่างไรก็ตามเพลงนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงสร้างชื่อ “Ricky Martin” นักร้องหนุ่มชาวโคลัมเบีย ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ในหลายประเทศและทำยอดขายในฝรั่งเศสไปเกินกว่า 5 แสนชุด
Un’estate italiana (To be number one) – Gianna Nannini & Edoardo Bennato (อึน เอสตาเต้ อิตาเลียน่า – จิอันน่า นานนินี่ และ เอดูอาร์โด้ เบ็นนาโต้)
เพลงประกอบฟุตบอลโลกปี 1990 แต่งและขับร้องโดย Gianna Nannini และ Edoardo Bennato (จิอันน่า นานนินี่ และ เอดูอาร์โด้ เบ็นนาโต้) สองนักร้องชื่อดังของอิตาลีประเทศเจ้าภาพ มีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษที่แต่งโดย Tom Whitlock (ทอม วิทล็อค) ออกมาควบคู่กัน หลายคนยกให้เพลงนี้เป็นเพลงประจำฟุตบอลโลกที่ดีที่สุดตลอดกาล ขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ในหลายๆประเทศ โดยเฉพาะเยอรมันประเทศแชมป์โลกในปีนั้นสามารถทำยอดขายไปได้ถึง 2 แสน 5 หมื่นชุด หากใครทันยุคนั้นน่าจะจำกันได้ว่าเป็นอัลบั้มที่ต้องสั่งจองกันเลยทีเดียว เนื่องจากเป็นฟุตบอลโลกครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดครบทุกแมทช์ในประเทศไทย
Hand in Hand – Koreana (แฮนด์ อิน แฮนด์ – โคเรียน่า)
อึกหนึ่งบทเพลงที่โปรดิวซ์โดย Giovanni Giorgio Moroder (โจวานนี่ จอร์โจ้ โมโรเดอร์) และแต่งเนื้อร้องโดย Tom Whitlock (ทอม วิทล็อค) เช่นเดียวกับเพลง To Be Number One ใช้เป็นเพลงโอลิมปิคปี 1988 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ได้วงรุ่นเก๋าอย่าง Arirang Singers (อารีราง ซิงเกอร์ส) ซึ่งเปลี่ยนชื่อเฉพาะกิจเป็น Koreana เพราะต้องการสื่อถึงความเป็นเกาหลีใต้เป็นผู้ขับร้อง แม้ว่าตัวโอลิมปิคจะมีเสียงค่อนขอดถึงการตัดสินของคณะกรรมการ แต่ทั่วโลกยังยอมรับว่านี่คือเพลงประกอบโอลิมปิคซึ่งดีที่สุดตลอดกาล ตัวเพลงสื่อความหมายถึมิตรภาพทางกีฬามากกว่าผลแพ้ชนะ สามารถขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ในหลายประเทศทั้งเอเชียและยุโรป รวมถึงทำยอดขายไปได้เกินกว่า 12 ล้านชุดทั่วโลก
Waka Waka – Shakira (วาก้า วาก้า – ชากีร่า)
นักร้องสาว Shakira เคยมีส่วนร่วมในเพลง Hips Don’t Lie (ฮิปส์ ดอนท์ ลาย) ของฟุตบอลโลกปี 2006 มาก่อนแล้ว แต่เป็นการ featuring กับนักร้องคนอื่นเท่านั้น ในบอลโลกครั้งต่อมาเธอได้โอกาสฉายเดี่ยวอย่างเต็มตัวในเพลง Waka Waka ที่ประกอบฟุตบอลโลกปี 2010 ณ ประเทศแอฟริกาใต้ ตัวเพลงทำออกมามีกลิ่นอายดนตรีแอฟริกาผสมละตินได้ดี รวมถึงมีท่าเต้นอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้เพลงนี้ติดลมบนอย่างรวดเร็ว ตัว Shakira ยังร่วมร้องเพลงพิธีปิดอันแสนประทับใจ การทำงานครั้งนี้กลายเป็นสื่อรักให้ Shakira พบกับ เคราร์ด ปิเก้ นักฟุตบอลเสปนทีมแชมป์ในปีนั้น ก่อนที่ทั้งคู่จะประกาศคบหาดูใจกันและปัจจุบันมีพยานรักร่วมกัน 1 คน
Live For Love United – รวมนักฟุตบอล (ลีฟ ฟอร์ เลิฟ ยูไนเต็ด)
เพลงประกอบฟุตบอลโลกปี 2002 ที่ไม่ได้เป็นเพลงหลัก เพราะ Official song นั้นเป็นของ Anastacia (อนาสตาเซีย) ในเพลง Boom แต่เพลง Live For Love United ซึ่งต้นฉบับเพลงนี้นั้นเป็นเสียงร้องของ Peabo Bryson (พีโบ ไบรสัน) ซึ่งทำเวอร์ชั่นใหม่โดยการนำนักฟุตบอลต่างชาติต่างภาษากันถึง 45 ชีวิตมาร่วมขับร้อง ไม่ว่าจะเป็นคนดังอย่าง โรนัลดินโญ่, โรแบร์โต้ คาร์ลอส และ ซีนาดีน ซีดาน ทำให้เพลงนี้ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในอัลบั้มรวมเพลงบอลโลกปีนั้นก็ตาม กระแสความดังของเพลงนี้กลบหลายๆเพลงในฟุตบอลโลกปีนั้นอย่างเห็นได้ชัด จนสุดท้ายทางโซนี่ มิวสิคต้องปล่อยซิงเกิ้ลเพลงนี้ออกมาในภายหลัง
We Are One (Ole Ola) – Pitbull featuring Jennifer Lopez and Claudia Leitte (วี อาร์ วัน โอเล่ โอล่า – พิทบูล, เจนนิเฟอร์ โลเปซ, คลาวเดีย เลทท์)
เพลงประกอบฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดปี 2014 ที่ประเทศบราซิล โดยได้แร็ปเปอร์คนดัง Pitbull ร่วมร้องกับ Jennifer Lopez และ Claudia Leitte สองนักร้องสาวชื่อดังแห่งอเมริกาและบราซิล เพลงนี้ใช้ผู้แต่งถึง 9 คน เพราะต้องเร่งทำเพลงให้เสร็จก่อนบอลโลก สุดท้ายก็เปิดตัวในเดือนเมษายนก่อนการแข่งขันแค่เดือนเดียว แม้ว่าจะโดนชาวแซมบ้าบ่นอุบเรื่องที่ไม่ยอมใช้เครื่องดนตรีพื้นเมืองและซาวด์ดนตรีไม่ใช่แบบบราซิลเลี่ยนแท้จริง รวมไปถึงใช้นักดนตรีจากคิวบาและเปอโตริโก จนได้แค่อันดับ 19 ในชาร์ตเพลงบราซิล แต่สำหรับประเทศอื่นนั้นได้รับความนิยมอย่างมากขึ้นอันดับ 1 ในหลายประเทศเชน ฮังการี, เบลเยี่ยม และ สวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงทำยอดขายได้เกิน 5 ล้านชุด
Reach For The Star – อมิตา ทาทา ยัง
เพลงนี้แต่งขึ้นโดย คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีวิกรม์เพื่อใช้ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทยเมื่อปี 1998 มีสโลแกนในการแข่งขันว่า มิตรภาพไร้พรมแดน ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทยกับการเป็นเจ้าภาพรายการนี้โดยได้คะแนนโหวต 20 เสียงเหนือจีนไทเปซึ่งได้ 10 คะแนน ในช่วงแรกนั้นเก็งกันว่ารายการใหญ่แบบนี้น่าจะเป็น เบิร์ด ธงไชย ที่ได้เป็นผู้ร้องเพลงเปิด แต่พลิกโผเล็กน้อยเมื่อทางทีมงานเลือก ทาทา ยัง แทน เป็นเพราะขณะนั้นสาวน้อยมหัศจรรย์กำลังโด่งดังถึงขีดสุด เพลงทำออกมาได้ดีจนหลายๆคนนำไปร้องในเวทีประกวด ถือเป็นหนึ่งในเพลงไทยที่สร้างความนิยมไปทั่วเอเชีย
ประเภทของแซกโซโฟน
Saxophone เป็นเครื่องดนตรีที่เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน นอกจากจะใช้กับวงดนตรีคลาสสิคและวงโยธวาทิตแล้ว ปัจจุบันยังเป็นเครื่องดนตรีหลักในแนวเพลงใหม่ๆเช่น เร็กเก้ สกา จนไปถึงวงร็อคบางวงอีกเช่นกัน ทำให้นักดนตรีหน้าใหม่หลายคนเริ่มสนใจในเครื่องดนตรีประเภทนี้ จึงควรทำความรู้จักกับประเภทต่างๆของแซกโซโฟนเสียก่อนว่ามีระดับเสียงที่คีย์ใด จนไปถึงความเหมาะสมกับแนวดนตรีที่ต้องใช้งาน
โซปราโน แซกโซโฟน (ระดับเสียง Bb)
เป็นแซกโซโฟนที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา เป็นโทนเสียงที่สูงในคีย์ Bb ไม่เหมาะสำหรับผู้เริ้มต้นหัดเล่นเพราะมีความยากในการควบคุมเสียงมากกว่าแซกโซโฟนประเภทอื่น ระดับเสียง Bb เท่ากับเครื่องดนตรีคลาริเน็ตและทรัมเป็ต สามารถขึ้นไปได้สูงถึงคีย์ Eb และใช้แทนใวโอลินในช่วงโพสิชั่นที่หนึ่งในวงประเภทเครื่องเป่า ปัจจุบันมีรูปทรงให้เลือก 2 แบบ คือแบบตรง และแบบโค้ง แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักเพราะหาแนวดนตรีที่เล่นด้วยค่อนข้างยาก
อัลโต แซกโซโฟน (ระดับเสียงEb)
เป็นแซกโซโฟนที่ค่อนข้างเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น เนื่องจากเป็นแซกโซโฟนที่เป่าง่ายกว่าแซกโซโฟนประเภทอื่นๆ รวมไปถึงมีขนาดที่พอเหมาะและน้ำหนักเบา คีย์ของอัลโตจะอยู่ในดนตรีหลายประเภทไม่ว่าจะเป็น คลาสสิค, ป็อป, แจ็ส ทำให้ได้รับความนิยมสูง ถือเป็นเครื่องที่ใช้แทนไวโอลิน-วิโอล่าในวงประเภทเครื่องเป่า มีระดับคีย์ที่ Eb ไปจนถึง Bb แซกโซโฟนอัลโต้จึงเป็นแซกโซโฟนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเอเชีย
เทเนอร์ แซกโซโฟน (ระดับเสียง Bb)
เป็นแซกโซโฟนที่ถูกใช้มากในการเล่นดนตรีแนวแจ็ส อยู่ในระดับเสียง Bb ที่ต่ำกว่าโซปราโน แซกโซโฟน 1 ออคเต็ป เสียงของแซกเทเนอร์จะมีลักษณะแบบนุ่ม ๆ อ้วน ๆ ถือเป็นเครื่องที่ใช้แทนวิโอล่าในวงประเภทเครื่องเป่า ในบางครั้งก็สามารถเห็นแซกโซโฟนเทเนอร์ได้ในการเล่นดนตรีแนวอื่น ๆ แซกโซโฟนเทเนอร์เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่มือใหม่ควรจะใช้ในการเริ่มต้นเพราะระดับคีย์ค่อนข้างกว้าง เล่นได้กับวงดนตรีหลายแนว สามารถขึ้นสูงได้ที่ระดับคีย์ F
บาริโทนแซกโซโฟน (ระดับเสียง Eb)
เป็นแซกโซโฟนที่มีขนาดใหญ่และมีความถี่เสียงต่ำ สามารถที่จะบรรเลงเดื่ยวได้เพราะโทนเสียงอยู่ในช่วงโทนเทนเนอร์-เบสซึ่งเป็นโทนเสียงที่นักดนตรีนิยมใช้กันค่อนข้างมาก ถือเป็นเครื่องที่ใช้แทนเชลโล่ในวงประเภทเครื่องเป่า และมีราคาค่อนข้างแพง ปกติแล้วจะมีน้ำหนักมาก ดังนั้นบาริโทนแซกโซโฟนจึงไม่เหมาะแก่นักแซกโซโฟนมือใหม่ทั้งหลาย เนื่องจากมีความเทอะทะ ความยาวท่อของบาริโทนแซกโซโฟนจะอยู่ประมาณ 7 ฟุต ทำให้ต้องเป็นผู้ชำนาญเท่านั้นจึงจะสามารถใช้เครื่องดนตรีประเภทนี้ได้อย่างคล่องแคล่ว
เบสแซกโซโฟน (ระดับเสียง Bb)
เป็นแซกโซโฟนที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีเสียงต่ำกว่าเทนเนอร์แซกโซโฟน 1 ช่วงคู่แปด และต่ำกว่าบาริโทนแซกโซโฟน เป็นคู่ 4 สมบูรณ์ เล่นโทนเบสเป็นหลัก ถือเป็นเครื่องที่ใช้แทนเสียงคอนทร่าเบสในวงประเภทเครื่องเป่า เนื่องจากมีขนาดที่ใหญ่มากทำให้ไม่ค่อยได้เห็นในวงดนตรีทั่วไป ส่วนใหญ่จะใช้ในวงออเคสตร้าหรือวงโยธวาพิต แต่ต้องเป็นผู้ที่ฝึกฝนจนเชี่ยวชาญแล้วเท่านั้น ขนาดของมันเรียกว่าใหญ่กว่าตัวผู้ถือด้วยซ้ำ และเนื่องจากเป็นเสียงเบสที่ใช้คุมวงจึงไม่เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น
คอนทร่าเบส แซกโซโฟน (ระดับเสียง Eb)
เป็นเครื่องที่มีขนาดเกือบที่จะใหญ่ที่สุด มีความยาวเป็นสองเท่าของบาริโทนแซกโซโฟน มีความสูงของเครื่องอยู่ที่ประมาณ 170-180 ซม. ซึ่งสูงกว่าผู้ถือ มีช่วงเสียงต่ำกว่าบาริโทนแซกโซโฟน 1 ช่วงคู่แปด เป็นเครื่องดนตรีที่พบเห็นได้ยาก เพราะวงดนตรีปัจจุบันไม่ค่อยได้ใช้โทนเสียงต่ำกว่าเสียงเบสเท่าไหร่นัก แต่ยังคงมีการผลิตอยู่ไม่มาก เสียงจะเป็นลักษณะ Buzzy มากกว่าจะบอกได้ว่าเล่นโน้ตตัวอะไรเพราะความใหญ่ของตัวเครื่องต่อปากเป่า นอกจากจะไม่ค่อยพบเห็นเครื่องดนตรีชนิดนี้แล้ว ยังหาคนเล่นได้ค่อนข้างน้อย
นอกจากนี้แล้วยังมี ซับคอนทร่าเบส แซกโซโฟน ซึ่งเป็นแซกโซโฟนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ในระดับเสียง Bb แต่ปัจจุบันไม่นิยมเล่นกันแล้วจึงไม่ค่อยพบเห็นเท่าไหร่นัก