ถ้าพูดถึงปิ๊กกีต้าร์แล้ว หลายๆคนอาจไม่ต้องคิดมากเลยในการเลือกซื้อเพราะเป็นอุปกรณ์ดนตรีที่ราคาถูกมาก ทำให้มีนักดนตรีทั้งสมัครเล่นและมืออาชีพต่างใช้ปิ๊กกีต้าร์ที่ไม่ตรงกับกีต้าร์หรือแนวดนตรีของตนเท่าไหร่นัก หลายๆคนอาจจมองเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่หารู้ไม่ว่าหากเลือกใช้ปิ๊กกีต้าร์ได้ดีแล้ว จะช่วยให้การเล่นกีต้าร์ของคุณราบลื่นขึ้นเพราะมีความถนัดมือ เพราะปิ๊กกีต้าร์แต่ละแบบจะแตกต่างกันไปตามขนาดความกว้างและความหนาของตัวปิ๊ก นอกจากนั้นยังมีการแบ่งตามวัสดุที่ใช้ผลิตปิ๊กแต่ละอันอีกด้วย จึงกล่าวได้ว่าความสำคัญของปิ๊กกีต้าร์นั้นแทบจะไม่น้อยไปกว่าตัวกีต้าร์ที่เล่นเลย ดังนั้นทาง Music Arms ก็จะขอนำเสนอการเลือกปิ๊กกีต้าร์ให้เหมาะสมกับตนเองอย่าง่ายๆดังนี้
เลือกความหนาของปิ๊ก
ปิ๊กกีต้าร์ตามปกติแล้วจะมีความหนา 3 ชนิด ซึ่งก็จะบอกขนาดไซด์อยู่ที่ตัวปิ๊กได้แก่
- “T” หรือ Thin แบบบาง (0.45–0.69 มม.) แบบนี้มือกีต้าร์มักจะใช้ในตัวกีต้าร์โปร่ง เพราะเวลาดีดตัวปิ๊กจะลู่ไปกับสายกีต้าร์ทำให้เสียงคอร์ดค่อนข้างกลมกลืน ซาวด์จะออกมาสมูธมากขึ้น หรือจะใช้ในกีต้าร์ไฟฟ้าก็ได้หากเป็นการตีคอร์ด
- “M” หรือ Medium ขนาดกลาง (0.70–0.84 มม.) เสียงตัวโน๊ตแต่ละตัวจะออกมาชัดเจน ใส และแข็งแรง เหมาะทั้งโซโล่และตีคอร์ด
- “H” หรือ Heavy (0.85–1.20 มม.) เป็นปิ๊กที่เหมาะกับการเล่นกีต้าร์โซโล่ที่เน้นการเล่นที่ต้องการความเร็ว เสียงที่ได้ก็จะมีความหนา
เลือกรูปทรงของปิ๊ก
รูปทรงของปิ๊กกีต้าร์ที่ทำออกมาจำหน่ายก็จะมีหลายรูปแบบ โดยมากแล้วการเลือกรูปทรงของปิ๊กจะเน้นแค่ถนัดมือเท่านั้น แต่มีการเล่นดนตรีบางประเภทที่ต้องคำนึงถึงรูปทรงเช่นกันเช่น หากต้องการโซโล่เสียงกรีดแหลมแบบร็อคก็ต้องเลือกปิ๊กขนาดเล็ก หรือที่บ้านเราเรียกว่า”กัดปิ๊ก”นั่นเอง นอกจากนี้ก็ยังมีปิ๊กเฉพาะทรงเช่น ทรงแจ๊สที่ผลิตมาเพื่อนักดนตรีแจ๊สอีกด้วย สำหรับทรงของปิ๊กที่ค่อนข้างนิยมจะเป็นทรงหยดน้ำที่พบเห็นได้ทั่วไปเพราะเป็นทรงสแตนดาร์ดเหมาะกับดนตรีทุกแนว หรือถ้าเล่นกีต้าร์โปร่งและชอบตีคอร์ดก็ต้องเลือกปิ๊กที่เป็นทรงสามเหลี่ยมเพื่อเสียงที่นุ่มนวล นอกจากนี้รูปทรงของปิ๊กยังมีแบบปิ๊กนิ้วหรือสวมนิ้วสำหรับสาวกฟิงเกอร์สไตล์เช่นกัน
เลือกวัสดุที่ใช้ผลิต
ส่วนมากปิ๊กที่เห็นตามท้องตลาดจะทำจากพลาสติก แต่เนื้อพลาสกติกแต่ละประเภทย่อมแตกต่างกันไปทั้งเซลลูลอยด์ ไนล่อน และคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งรุ่นที่นิยมใช้กันมากทั่วโลกจะเป็นแบบคาร์บอนไฟเบอร์ขนาด 1.0 ของ Dunlop ซึ่งปิ๊กที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์จะแข็งกว่าพลาสติกชนิดอื่นๆ ทำให้ปิ๊กชนิดนี้เข้ากับแนวเพลงค่อนข้างมากและใช้กับกีต้าร์ไฟฟ้าได้ดี มือกีต้าร์ที่เล่นแนวไฟฟ้าจึงค่อนข้างนิยมเพราะสามารถโซโล่ก็ได้ ตีพาวเวอร์คอร์ดก็แน่น แต่หากเป็นสายกีต้าร์โปร่งจะเน้นแบบปิ๊กไนล่อนที่ให้ความนุ่มนวลของเสียง ข้อเสียของปิ๊กแบบไนล่อนคือเสียงที่ออกมาจะค่อนข้างเบาแต่ให้ความต่อเนื่องของเสียงดี นอกจากนี้ยังมีปิ๊กที่ทำจากวัสดุอื่นๆ เช่น เหล็ก หรือ กระดูก แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักเพราะแข็งมากจึงทำให้สายกีต้าร์เสื่อมหรือขาดง่าย
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการเลือกปิ๊กก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยต่อการเล่นกีต้าร์ เพราะหากเลือกปิ๊กไม่ตรงตามกีต้าร์ที่เล่นแล้ว การดูแลรักษาสายกีต้าร์ก็จะยุ่งยากเช่นใช้ปิ๊กแบบหนามาเล่นอะคูสติกก็มีโอกาสที่สายจะขาดง่าย หรือใช้ปิ๊กแบบบางไปหัดโซโล่ก็จะทำให้การโซโล่เป็นไปอย่างยากลำบากจนมือใหม่หลายคนอาจรู้สึกท้อไปเลย หรือบางคนอาจชอบแนวกัดปิ๊กแต่ไปใช้ปิ๊กขนาดใหญ่ทรงสามเหลี่ยมก็ทำให้เสียงกัดปิ๊กไม่ค่อยออกหรือ sustain ไม่ยาวเท่าที่ควร ดังนั้นอย่าละเลยจุดง่ายๆในการเล่นกีต้าร์อย่างการเลือกปิ๊ก เพราะนี่จะเป็นทริคเล็กๆน้อยๆที่ช่วยในการเล่นกีต้าร์ของเพื่อนๆให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นรวมไปถึงการบำรุงรักษาสายกีต้าร์อีกด้วย รู้แล้วก็อย่าลืมไปเลือกปิ๊กให้เหมาะสมกันนะจ๊ะ
ขอบคุณบทความจาก learntoplaymusic
ขอบคุณรูปภาพจาก wholesaler, howlingmonkeypick ,harmonycentral , guitartopreview