‘ผลจากการวิจัย* พบว่า การทำอะไรซ้ำ ๆ ทำให้เราเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้แย่ลง!’
ตามที่เค้าวิจัยออกมา อาจจะจริงอยู่ว่าการจะจดจำอะไรสักอย่างหนึ่งย่อมมาจากการที่เจอกับมันซ้ำ ๆ แต่ในขณะเดียวกัน ความสามารถในการจำแนงแจกแจงสิ่งคล้าย ๆ กันดันแย่ลงไปซะเฉย ๆ
นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไม เราควรจะเลิกพฤติกรรมการฝึกที่วนเวียนอยู่กับการทำซ้ำ ๆ ต่อไป อย่าง
1. ทำตัวแบบเทปบันทึกเสียงเจ๊งกะบ๊ง
บางคนพยายามเล่นให้เป๊ะ ด้วยวิธีซ้อมแบบเล่นท่อนเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ที่ tempo ระดับเดิม
2. เข้าโหมดพลขับอัตโนมัติ
หรือบางคนตะแบงเล่นเพลงจนจบเพลง จะผิดจะถูกไม่รู้ แต่ต้องเล่นมันจนจบให้ได้ แต่ไม่ใช่ว่าวิธีนี้จะไม่มีประโยชน์อะไรเอาซะเลย ข้อดีของมันคือ มันทำให้เรามองเห็นภาพรวมชัดเจนขึ้น แต่สิ่งที่ต้องทำหลังจากนั้นคือการค่อย ๆ แกะทีละท่อน และบรรลงเล่นอย่างละเอียดลออ
ถ้าเกิดว่าจมอยู่กับการเล่นมุดหัวจมท้ายไปจนจบ เรียกได้ว่ามีแต่เสียกับเสีย เปลืองเวลาและพลังชีวิตโดยใช่เหตุ
3. เคล้าสองวิธียอดแย่ข้างต้นเข้าด้วยกัน
นี่คืออภิมหาคอมโบประลัย ของการฝึกยอดแย่สองอย่างผสมกัน เล่นแบบมุทะลุไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมจนจบเพลง ซ้ำยังไม่พอเล่นมันซ้ำ ๆ เหมือนบันทึกเทปเสียติดลูป
ผลจากทั้ง 3 ข้อคือ เรียกได้ว่ามีแต่เสียกับเสียกับเสีย, เสียที่หนึ่ง เสียเวลาชีวิต เพราะการฝึกเหล่านี้เป็นการทำซ้ำ ๆ ที่เสี่ยงทำให้อาจเกิดอาการ’ติด’วิธีเล่นผิด ๆ จนแก้ได้ยาก และอาจจะต้องมาเสียเวลาแก้อีก
สอง เสียความมั่นใจ การทำซ้ำ ๆ ลวก ๆ ทำให้เราไม่เข้าใจว่าส่วนยิบส่วนย่อยนั้นมันเล่นเป๊ะ ๆ ยังไงกันแน่ มันทำให้เราไม่กล้าโชว์พาวมาก เสียเซลฟ์ที่สุด
สาม เสียทักษะการเรียนรู้ จากที่จั่วหัวไว้เลย ตามนั้น
และควรทำยังไงล่ะที่นี้?
อีกงานวิจัย** หนึ่งกล่าวว่า ยิ่งเรามีความรู้ที่ ‘กว้าง’ มากเท่าไหร่ ยิ่งจะเป็นเรื่องง่ายในการดึงองค์ความรู้ออกมาจากสิ่งที่พบเจอ
ดังนั้นเราควรจะมี ‘การฝึกอย่างสุขุม’ นี่คือ การเพิ่มความ ‘กว้าง’ ให้กับการฝึก นี่ต่างหาก ไม่ใช่การทำซ้ำ ๆ ซึ่งก็ด้วยการ
– ฝึกอย่างช้า ๆ บรรจง ทำซ้ำ ๆ ให้น้อยที่สุด
– ลงรายละเอียดทีละตัวโน้ต เลือกเฟ้นวิธีที่จะ’บรรยาย’โน้ตแต่ละตัวออกมา กระแทกเกินไป? เบาไป? จะให้โน้ตยาวแค่ไหน?
– พยายามหาวิธีใหม่ ๆ ที่จะพัฒนารายละเอียดแต่ละอย่าง
จะเห็นว่าการฝึกแบบนี้จะเพิ่มความ ‘กว้าง’ ในการบรรยายรายละเอียดลงไปที่แต่ละโน้ต ๆ ไป และเน้นที่ความเป็นตัวเอง ความพอใจในทักษะการยรรยายทางดนตรีของเราเอง
การฝึกที่ทำอะไรซ้ำ ๆ มีแต่บ่อนทำลายความคิดสร้างสรรค์ของเรา ทำให้เรียนรู้สิ่งใหม่ได้แย่ กลับกันการฝึกแบบสุขุม ลงรายละเอียด เลือกสรรบรรจงใส่ด้วยเทคนิคที่กว้าง และใหม่ตลอดเวลา จะสอดรับกับลักษณะการเรียนรู้ที่ผลวิจัยประเมินว่าแล้วว่าดีที่สุด
ลองหันมาฝึกแบบนี้กันดูนะ 😉
==============================================
*Zachariah M. Reagh และ Michael A. Yassa – Repetition strengthens target recognition but impairs similar lure discrimination: evidence for trace competition
**Radboud University Nijmegen – How the brain builds on prior knowledge
ขอขอบคุณ lifehacker.com และ sciencedaily.com