Monthly Archives: กันยายน 2016
7 ข้อที่ควรรู้เมื่อเลือกเล่นไวโอลิน (7) “มีคนที่เล่นเก่งกว่าเรา อายุน้อยกว่าเรา”
วันนี้เป็นตอนสุดท้ายในชุด ‘7 ข้อที่ควรรู้เมื่อเลือกเล่นไวโอลิน’ สิ่งที่อยากจะพูดในวันนี้ อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเทคนิคอะไรเลย แต่เป็นเรื่องความรู้สึกล้วนๆ เมื่อเราเข้ามาสู่โลกแห่งไวโอลิน เราจะได้พบนักไวโอลินมากมายหลายคน และหลายๆคนนั้นต่างก็เก่งกว่าเราทั้งนั้น บางคนอาจจะอายุน้อยมาก บางคนอาจจะพัฒนาฝีมือได้ไวกว่าเรา
มันอาจจะเป็นเรื่องน่าท้อใจ กับการต้องเอาตัวไปเปรียบเทียบกับคนในชุมชนที่มีคนเก่งกว่าเรามากมาย
แต่!
ให้รู้ไว้ว่านี่เป็นธรรมดาสากลในโลกของดนตรี ยกตัวอย่าง Paul Gilbert มือกีต้าร์ร็อคชื่อดัง ยังต้องทึ่งเลยเมื่อไปเจอเด็กสาวอายุแค่ 8 ขวบ เล่นเพลงของเขาเอง ที่มีความยากในระดับสูง เรียกได้ว่าวัดรอยเท้ากันเลยทีเดียว
ถึงอย่างนั้น มันก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตดนตรีของ Gilbert จบลงไปจริงไหม 🙂 เหมือนกัน การเล่นไวโอลินหรือจะเครื่องดนตรีชนิดไหนๆของเพื่อนๆ ก็ยังไม่จบลง
มันไม่ใช้การต่อสู้ฆ่าฟันนี่นา ดนตรีน่ะ
เป้าหมายที่เหมือนกันคือการแสดงออกผ่านเสียงดนตรีต่างหาก เนอะว่าไหม
หวังว่าบทความในชุดนี้ จะเพิ่มความเข้าใจให้นักไวโอลินหน้าใหม่ๆได้ (รวมถึงเพื่อนๆคนอื่นด้วยที่ไม่ได้เล่นไวโอลินก็ตาม) วันนี้ขอตัวลาไปก่อน แล้วพบกับบทความชุดใหม่
ขอขอบคุณเว็บไซต์ Artistworks
7 ข้อที่ควรรู้เมื่อเลือกเล่นไวโอลิน (6) “ยางสนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน”
สำหรับคนที่ไม่เคยเล่นไวโอลิน อาจจะสงสัยว่าก้อนเหลืองๆที่นักเล่นไวโอลินถูกับคันชักมันคืออะไร เอาไว้ทำอะไร กับเจ้าก้อนเหลืองๆเรียกว่า”ยางสน”
สาเหตุที่มันความจำเป็นนั่นเป็นเพราะ…
หางม้าเปล่าๆบนคันชัก หนืดไม่พอที่จะสีสายไวโอลินให้เกิดเสียงได้ ยางสนคือสิ่งที่ถูกใช้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ก่อนจะเล่นเราจำเป็นต้องถูยางสนลงบนหางม้า ทำให้หางม้ามีความเสียดทานพอจะสีจนเกิดเสียงได้ แต่ไม่ใช่แค่ละเลงถูยางสนลงไป เราจำเป็นต้องเข้าใจกันก่อนว่ายางสนแต่ละชนิดก็ไม่เหมือนกัน
ขั้นแรกเราต้องเลือกยางสนโดยดูจากสี สีของยางสนจะบ่งบอกความแตกต่าง สีเข้มจะเหนียวน้อยกว่า สีอ่อนเหนียวกว่า ทั้งนี้ความเหนียวมากเหนียวน้อยของยางสนส่งผลต่อเสียงของโวโอลินด้วย ตรงนี้เป็นเรื่องของรสนิยมล้วนๆ ความเหนียวที่มากอาจทำให้เสียงออกมาสากๆ ในขณะที่น้อยไปอาจจะได้เสียงไม่ถึงที่เราต้องการ
เมื่อเลือกยางสนที่เข้ากับรสนิยมแล้ว ขั้นต่อไปเป็นขั้นแกะกล่อง ยางสนในทีแรกที่เปิดกล่องออกมา ไม่สามารถใช้ถูได้เลยเพราะมันไม่ติดกับหางม้า ควรทำให้ผิวหน้าของยางสนมีความหยาบก่อน เช่นใช้มีดกรีดหน้ายางสนเป็นรอยรูปตาราง เป็นต้น
การถูยางสนต้องระมัดระวังไม่ให้ยางสนไปโดนแถบเหล็ก ด้วยการให้นิ้วโป้งอยู่ตรงแถบเหล็กนั้น แล้วเริ่มถูเป็นช่วงๆ จนทั่วทั้งหางม้า สังเกตว่าจะมีผงขาวๆตามหางม้า สำหรับหางม้าที่ถูด้วยยางสนแล้ว ห้ามเอามือไปโดนเด็ดขาด เพราะความมันจากมือของเราทำให้ไปติดกับยางสนบนหางม้าทำให้สีกับสายได้ไม่ดี เสียงแย่ได้
เมื่อรู้จักกับยางสนและรู้ว่าต้องใช้ยังไงกับไวโอลินของเราแล้ว คำถามต่อไปอาจจะเป็นเรื่องที่ว่าควรถูบ่อยแค่ไหน เรื่องความถี่ในการถูยางสนนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว บางคนก็ทำทุกวันที่เล่น แต่ที่แน่ๆเลยก็คือถ้าเกิดคุณภาพเสียงไวโอลินตกเมื่อไร ควรนึกถึงการถูยางสนเป็นอันดับแรก
ขอขอบคุณเว็บไซต์ Violinstudent และ Youtube Channel ของ Andrew Mercer
7 ข้อที่ควรรู้เมื่อเลือกเล่นไวโอลิน (5) “หัดเทคนิคยากๆ เอาไว้แต่เนิ่นๆ”
เล่นไวโอลินตอนแรกว่ายากแล้ว พอไปต่อสูงขึ้นก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ไลน์เพลงไวโอลินก็ยิ่งมีความซับซ้อนขึ้น การฝึกเทคนิคยากเอาไว้แต่เนิ่นๆ เป็นการเตรียมตัวที่ดีเยี่ยม เทคนิคที่ควรฝึกตั้งแต่เนิ่นๆ สำหรับวันนี้ทางเราคัดมา 2 เทคนิค
> Double Stops
เป็นเทคนิคที่ถูกใช้บ่อยเป็นประจำ เพราะว่ามันเป็นเอกลักษณ์เด่นของดนตรีประเภทเครื่องสาย ที่สามารถเล่นโน้ตสองตัวพร้อมๆกันได้ นักประพันธ์จึงอาศัยจุดนี้จับมาเล่นในงานประพันธ์อยู่บ่อยๆ การทำ Double Stops คือการสีด้วยคันชักในองศาที่สามารถสีสองสายได้พร้อมๆกัน ส่วนมากมือใหม่มักจะจบที่โน้ตออกมาทีละตัว
> Spiccato
เป็นเทคนิคที่อาจจะไม่ได้ใช้เลยในเพลงเริ่มเล่น แต่ถ้าทำได้แต่แรกๆ นี่จะทำให้เพื่อนๆ เป็นเสือติดปีกเวลาเล่นเพลงยากๆในภายหน้าแน่นอน เทคนิคนี้คือการที่เมื่อหางม้าสัมผัสกับสายไวโอลินแล้วในช่วงสั้นๆนั้น ให้ยกคันชักออก คันชักควรจะต้องมิทิศทางขนานไปกับสะพานสาย
สำหรับบางคนที่มองไม่เห็นภาพ ลองดูจากทางยูทูปที่สอนเทคนิคเหล่านี้ดูก็ได้ ถ้ารู้แล้วว่าทำยังไง ก็อย่ารอช้า รีบๆฝึกเตรียมไว้ก่อนเลย เพลงยากครั้งหน้าๆ ก็สบายๆเราแล้ว
ขอขอบคุณเว็บไซต์ Youtube ช่อง Fiddlerman และ Danmansmusicschool
7 ข้อที่ควรรู้เมื่อเลือกเล่นไวโอลิน (4) “ไวโอลินต้องได้รับการเอาใจใส่”
ใครๆก็อยากให้เครื่องดนตรีอยู่กับเราไปนานๆ สำหรับไวโอลิน ต้องเอาใจใส่ทั้งตัวเครื่องดนตรี และคันชัก
สำหรับตัวไวโอลิน ความชื้นและอุณหภูมิเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้ไม้บนตัวไวโอลินขยายหรือหดตัวส่งผลต่อคุณภาพเสียงได้ ไม่ควรให้ไวโอลินสัมผัสอากาศชื้น เพราะจะทำให้ไม้ปริแตกได้ การตากสภาพอากาศร้อนจัดเย็นจัดเป็นสิ่งต้องห้าม ห้ามทิ้งไว้ในรถเด็ดขาด!
ทำความสะอาดด้วยการเช็ดฝุ่นและเศษยางสนบริเวณสายออก ยางสนที่เกาะค้างตามสายทำให้สายเสียงแย่ลงไวขึ้น
สำหรับคันชัก ส่วนที่เป็นไม้จะถูกดึงให้โค้งลงเล็กน้อยในขณะที่ใช้เล่น เมื่อเล่นเสร็จ ควรปรับให้กลับมาตรงเช่นเดิม การทำความสะอาดคันชักก็มีความสำคัญเช่นกันโดยเฉพาะที่หางม้า ควรเช็ดเอายางสนออกเสมอ การเปลี่ยนหางม้าก็มีความสำคัญมาก หางม้าที่อยู่ในที่แห้งจะหดลง และยืดขึ้นสำหรับในที่ชื้น ทำให้คุณภาพเปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้นควรเปลี่ยนทุกๆ 3 หรือ 6 เดือน ทั้งนี้ความถี่บ่อยในการเปลี่ยนขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นผู้เล่นประเภทไหน สำหรับนักไวโอลินสมัครเล่นการเปลี่ยนอาจไม่บ่อยเท่าผู้ที่เล่นเป็นอาชีพจริงจัง
จะเห็นว่าการดูแลไวโอลินไม่ได้ยากเย็นเลย เพียงแค่หมั่นเช็ดทำความสะอาด และเก็บให้ถูกที่เท่านั้นเอง ควรทำให้เป็นกิจจะลักษณะ ไวโอลินจะได้อยู่กับเราไปนานๆ
ขอขอบคุณเว็บไซต์ Violinstudent และ Thesoundpost
7 ข้อที่ควรรู้เมื่อเลือกเล่นไวโอลิน (3) “เรียนรู้ที่จะเล่นแบบไม่มีเสียง”
มันอาจจะฟังดูย้อนแย้งไปหน่อย ปกติเล่นดนตรีก็ควรจะมีเสียงดนตรี แต่เราควรจะต้องฝึกเล่นดนตรีโดยไม่มีเสียงกับไวโอลิน!
โอเค ปัญหาอย่างแรกของไวโอลินคือเสียงดัง สำหรับผู้เริ่มเล่นด้วยแล้วคงไม่มีใครอยากผลิตมลพิษทางเสียงรบกวนเพื่อนบ้านแน่ๆ และอีกปัญหาคือปัญหาสุขภาพจากการเล่นไวโอลินที่อาจทำให้หูมีปัญหาเอาได้ ด้วยปัญหาสองข้อนี้เราจึงควรหันมาฝึกไวโอลินแบบไม่มีเสียงกันบ้าง นอกจากนี้ยังมีประโยชน์แฝงอีกด้วย
>> วิธีแรก แก้ปัญหาด้วย “มิ้ว (Mute)” อุปกรณ์ที่ติดเข้ากับไวโอลินเพื่อลดทอนเสียงดัง มีการฝึกที่เรียกว่า Heavy Mute ที่คาดมิ้วเข้ากับตัวไวโอลินแต่เล่นให้หนักขึ้นเพื่อให้ได้ยินเสียงออกมาเบาๆ เทคนิคนี้จะทำให้ผู้เล่นมาโฟกัสกับน้ำเสียงสำเนียงของการเล่น มากกว่าความดังหรือคุณภาพเสียงของตัวไวโอลิน และมองเห็นรายละเอียดของการเล่นมากขึ้น
การมิ้วอาจจะดูน่าสนใจ แต่ก็จำเป็นต้องใช้เงินกับมัน ซึ่งก็มีตัวเลือกที่ไม่ต้องเสียสักบาทด้วยการ…
>> ฝึกเล่นไวโอลินในจินตนาการ (Visualization)!
การนึกภาพว่าเรากำลังจับและเล่นไวโอลินอย่างจริงจัง ถือเป็นการซ้อมที่ส่งผลต่อสมองโดยตรง นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการนึกภาพตามว่าเรากำลังทำกิจกรรมหนึ่งๆอยู่ สมองส่วนที่ใช้ขณะที่ทำกิจกรรมนั้นจริงๆ ก็จะถูกใช้ด้วยเช่นกัน ช่วยส่งเสริมความแม่นยำเวลาได้กลับมาเล่นจริงๆ เทคนิคนี้ได้รับความเชื่อถือและถูกใช้ในวงการแพทย์เพื่อฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองซึ่งควบคุมกล้ามเนื้อขาแขนไม่ได้ให้กลับมาควบคุมได้อีกด้วย
จะเห็นว่านอกจากจะแก้ปัญหาความดัง หรือสุขภาพแล้ว เทคนิคเหล่านี้ยังมีข้อดีที่ทำให้การเล่นของเราดีขึ้นได้ แนะนำว่าลองหันมาใช้เทคนิคเล่นไวโอลินแบบไม่มีเสียงกันดูบ้าง อาจจะทำให้เก่งเร็วขึ้นเยอะเลย
ขอขอบคุณ Violinschool.org
7 ข้อที่ควรรู้เมื่อเลือกเล่นไวโอลิน (2) “เสียงไวโอลินฟังแสบบาดหูเหรอ? ไม่เสมอไปหรอก”
ไวโอลินเราเสียงแหลมบาดหูไป กลัวใจคนฟังจัง…
เสียงไวโอลินอาจจะฟังแล้วบาดหูเอามากๆ เมื่อเปลี่ยนสายแรกๆ การปล่อยให้สายเข้าที่จะลดอาการนี้ได้ หรือถ้ายังฟังแล้วบาดหูอีก นั่นเป็นเพราะว่าสายของคุณเด่นในย่านเสียงสูง ดังนั้นควรสอบถามทางร้านให้แนะนำสายที่ให้เสียงย่านทุ้มต่ำหน่อยก็ได้
นอกเหนือจากที่พูดมาก่อนหน้า
ทำยังไง๊ยังไง ไวโอลินก็ยังฟังแหลมบาดหูอยู่ยังงั้น
ก็อยากบอกให้รู้ไว้ว่าขนาดไวโอลินชั้นเลิศที่นักเล่นมืออาชีพใช้เอง บางทีก็ฟังเสียงดังบาดหูเกินไปเหมือนกัน
โห ขนาดของดีๆ ยังฟังแหลมบาดหู ของบ้านๆอย่างเราๆจะเหลือหรือนี่
แต่รู้ไว้ที่มันแหลมขนาดนั้น นั่นเป็นเพราะว่ามันถูกเล่นใกล้หูเกินไปต่างหาก! ลองนึกภาพการจับไวโอลิน เสียงของไวโอลินออกมาจากช่องรูปตัว f และในขณะที่เราถือมันเล่นอยู่นั้น มันก็อยู่ใกล้หูของเราเกินไป
ไม่แปลกที่ได้ยินเสียงแหลมๆในระดับใกล้ๆจะรู้สึกบาดหู และนี่ทำให้นักไวโอลินส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยินไปเลย เพราะใช้เวลาอยู่กับเสียงแหลมดังๆใกล้ๆเป็นระยะเวลานาน
แต่ฟังเสียงแหลมบาดหูแบบนี้ ผู้ฟังคนอื่นฟังต้องรู้สึกไม่ดีแน่ๆ ทำยังไงดี?
คำตอบคือ…ไม่ต้องทำอะไรเลย!
สิ่งหนึ่งที่ควรรู้ไว้ก็คือความดังบาดหูจะถูกอากาศดูดซับ ขณะเสียงเคลื่อนตัวผ่านไปยังผู้ฟัง โดยเฉพาะคอนเสิร์ตฮอลล์ที่ถูกออกแบบมาอย่างดี ดังนั้นแล้วเสียงข่วนแสบบาดหูของคุณ จะกลายเป็นเสียงสวรรค์สำหรับผู้ฟังไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม เราอาจจะไม่ต้องไปกังวลว่าความแหลมบาดหูของไวโอลินทำให้คนฟังไม่พอใจ มากเท่ากับที่เรา’ต้องดูแลตัวเราเอง’ การเล่นไวโอลินนานๆจะทำให้หูเรามีปัญหาได้ ยิ่งเรามีความจำเป็นที่จะต้องเล่นบ่อยๆ ก็ควรมีที่อุดหูและขอคำแนะนำจากแพทย์อยู่เสมอ
ขอขอบคุณเว็บไซต์ Artistworks และ Violinschool