จบเพลงให้ทรงพลัง ด้วยคอร์ด ‘นีอาโพลิตัน’
“คอร์ด ‘นีอาโพลิตัน’ นี้มีความสามารถที่จะส่งเสริมการจบเพลงหรือท่อนสักท่อนได้ทรงพลัง เป็นทางคอร์ดที่นักแต่งเพลงหน้าใหม่ควรรู้จัก”
สังเกตุว่า การจบเพลงที่จบแบบ G >> C หรือ B >> E หรือในภาษาทฤษฎีคือ V >> I (คอร์ด 5 มา 1) จะให้ความรู้สึกจบที่ทรงพลังกว่าแบบอื่น ๆ
แต่ถึงอย่างงั้น ไอ้ความทรงพลังนี้มันก็ไม่สุดซะทีเดียว เพราะมันก็มีวิธี ‘โมทางคอร์ด’ ให้ดูจบให้เนี้ยบให้สุดกว่านี้ได้อีก ซึ่งก็คือหัวข้อของเราในวันนี้
เราจะมารู้จักกับคอร์ดชื่อแปลก ๆ อย่าง ‘นีอาโพลิตัน’ ซึ่งความเป็นจริงแล้ว โครงสร้างคอร์ดของมันไม่ได้แปลกตามชื่อแต่ประการใด
แท้จริงแล้ว มันคือคอร์ดเมเจอร์ธรรมดา ที่มีหน้าที่เพิ่มพลังในการจบท่อนหรือบทเพลงได้เป็นอย่างดี
คอร์ดนีอาโพลิตันนั้นขึ้นอยู่กับ คีย์ของแต่ละเพลง ถ้าพูดแบบไม่ยึดติดภาษาทฤษฎีเลย คอร์ดตัวนี้จะเป็นคอร์ด Majorเสมอ เป็นคอร์ดตัวที่หนึ่งบนคีย์นั้น ๆ ติด #
เช่น คีย์ G ทั้ง Major และ Minor ซึ่งคอร์ดตัวแรกก็คือ G และ Gm พอติด # เป็น G# หรือ G#m ตามลำดับ แต่คอร์ดนีอาโพลิตันเป็นได้แต่ Major เท่านั้น ดังนั้นจึงเหลือ G# นี่คือคอร์ดนีอาโพลิตัน บนทั้ง 2 คีย์นี้
อาจจะงง แต่ลองมาดูตัวอย่างเพิ่ม
เช่น ในคีย์ C major, C minor คอร์ดนีอาโพลิตันจะเป็น C# และถ้าเป็นคีย์ A major รึ minor ก็จะเป็น A#
ถ้าพอเก็ทหลัก ก็จะรู้สึกง่าย ๆ ไปเลย
เราเกริ่นนำไปแต่แรกแล้วว่า วิธีจบที่ทรงพลังกว่าวิธีอื่น ๆ เราจะเอาคอร์ดนีอาโพลิตันไปแทรกไว้ข้างหน้าการจบแบบ V >> I
ถ้าเป็นในคีย์ C major, ทางคอร์ดจะเป็น C# >> G >> C
ซึ่งคอร์ดนีอาโพลิตันที่โผล่ออกมาก่อนหน้า ถูกใส่มาเพื่อเพิ่ม ‘ความขัดแย้ง’ ทำให้รู้สึกแปร่ง ๆ ขัด ๆ จนคลี่คลายด้วยการจบแบบทรงพลัง เปรียบเหมือนละครที่มี Climax ในช่วงหัวโค้งสุดท้ายยังไงยังงั้นเลย
ใครที่อยากลองแต่งเพลง ก็รับคอร์ดนีอาโพลิตัน เข้าไปเป็น ‘แรงบันดาลใจเล็ก ๆ ซักหน่อย’ สิ 🙂
*ทั้งนี้คอร์ดชนิดนี้ ตั้งชื่อตาม สำนักดนตรีแห่งอิตาลีสมัยศตวรรษที่ 18 คือ ‘สำนักนีอาโพลิตัน’ ซึ่งมักใช้คอร์ดนี้อยู่บ่อยครั้งนั่นเอง คอร์ดนี้ถูกใช้ในเพลงสากลหลายเพลง อาทิเช่น Do You Want to Know a Secret ของ The Beatles และ Mother’s Little Helper ของ The Rolling Stones เป็นต้น